- สร้างโดย ศพเ.บ้านตะโหมด
- สังกัด อปท. จังหวัด พัทลุง
- ผู้จัดทำ นางสาวจิรภัทร ชูรักษ์ วันที่สร้าง 7 กุมภาพันธ์ 2562, 22:09 น.
- ประเภทตัวชี้วัด ผู้เรียนมีสุขนิสัย สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี
การจัดอาหารให้เด็กปฐมวัย นอกจากคำนึงถึงปริมาณให้เด็กอิ่มท้องแล้วยังต้องคำนึงถึงคุณค่าสารอาหารเช่น โปรตีน แคลเซียม และวิตามินต่างๆ การจัดเตรียมอาหารควรมีความหลากหลายชนิดหมุนเวียนในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้เด็กได้รับอาหารเพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ หลักการจัดอาหารสำหรับเด็กปฐมวัย 1. ควรจัดอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสม และมีการเตรียมที่สะอาดปลอดภัย ควรเน้นกรรมวิธีผ่านความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรคจนแน่ใจว่าสะอาด ผักสดและผลไม้ต้องล้างให้สะอาด เนื้อสัตว์ต้องปรุงสุกเสมอ การเตรียมอาหารไม่ควรนานเกิน 2 ชั่วโมงก่อนให้เด็กรับประทาน อาหารที่ปรุงเสร็จหรือล้างสะอาดแล้ว ควรเก็บในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดป้องกันแมลงและฝุ่นต่างๆ 2. ควรให้ร่างกายได้รับไขมันที่พอเหมาะ คือประมาณร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด ในเด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับน้ำมันพืชและไขมันจากสัตว์ และนม และควรเลือกใช้น้ำมันที่ให้กรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด และน้ำมันจากปลาทะเล เด็กวัย 1-3 ปี รับประทานไข่ได้วันละ 1 ฟอง 3. ควรให้เด็กรับประทานน้ำตาลแต่พอควร การรับประทานน้ำตาลทรายที่ใส่ในอาหาร ขนม และเครื่องดื่มมากเกินไปจะทำให้เกิดโทษ เช่น ฟันผุ และยังเป็นสาเหตุให้มีการสร้างไขมันไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจขาดเลือดและโรคเบาหวานในอนาคต ควรรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตประเภทธัญพืช ซึ่งเมื่อย่อยแล้วจะให้น้ำตาล ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้และยังได้รับสารอาหารชนิดอื่นเพิ่มเติมด้วย 4. ควรให้เด็กรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ อาหารที่ให้ใยอาหารเป็นส่วนของพืชที่ร่างกายย่อยไม่ได้ จึงเหลือเป็นกากอยู่ในลำไส้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ กระตุ้นการขับถ่ายของร่างกายให้สม่ำเสมอ ผักที่มีประโยชน์สูง ได้แก่ผักที่มีสีเขียวสด เช่น ผักตำลึง ผักบุ้ง ผักคะน้า ฯลฯ ผักสีแดง สีเหลือง สีแสด เช่น มะเขือเทศสุก ฟักทอง เป็นต้น ในวันหนึ่งๆ ควรได้รับผักอย่างน้อย 1-2 ชนิด 5. ควรให้เด็กรับประทานอาหารรสธรรมชาติ งดเว้นอาหารรสจัดทุกชนิด ควรลดการใช้เกลือและอาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว อาหารหมักดองอื่นๆ รวมถึงเครื่องดื่มบางชนิดที่มีโซเดียมสูงด้วย 6. ควรให้เด็กรับประทานอาหารที่มีส่วนป้องกันโรคมะเร็ง ได้แก่ การเพิ่มผักและผลไม้ให้มากขึ้น ละเว้นอาหารที่ไหม้เกรียมอาหารที่มีความชื้นจนเกิดเชื้อรา จำกัดปริมาณไขมันโดยเฉพาะที่มาจากสัตว์ และไขมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัว ควรหลีกเลี่ยงอาหารใส่สีและสารเคมี 7. ควรให้เด็กรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และสะดวกแก่การรับประทาน เนื่องจากระบบทางเดินอาหารของเด็กยังเติบโตไม่เต็มที่ กระเพาะอาหารยังมีขนาดเล็ก การจัดอาหารให้เด็กจึงควรมีความพอเหมาะ เด็กที่เล็กมากควรแบ่งมื้ออาหารให้มากขึ้น ขนาดของอาหารควรหั่นเป็นชิ้นเล็กที่สะดวกในการตักและเคี้ยว
แชร์ข่าวนี้