- สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่งคำ
- สังกัด อปท. จังหวัด มหาสารคาม
- ผู้จัดทำ นงนุช นามไตร วันที่สร้าง 17 กรกฎาคม 2559, 13:41 น.
- ประเภทตัวชี้วัด สถานศึกษามีความร่วมมือระหว่างบ้าน,ศาสนา,การศึกษา,ภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในชุมชน
การจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม ระหว่างบ้าน วัด และ ศพด. เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการศึกษาแห่งชาติ ก่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาในด้านต่างๆ เช่น ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการศึกษา ที่มีการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชุมชน ครอบครัว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรต่างๆสถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นๆ (มาตราที่ 8 และ 9) จากหลักการจัดการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับนี้ แสดงถึงการให้ความสำคัญแก่ชุมชน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น และหลักการดังกล่าวมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นในมาตรา 40 ที่กำหนดให้มีกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสถานศึกษา ประกอบด้วยผู้แทนปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่าของสถานศึกษา ผู้แทนพระสงฆ์และ/หรือ ผู้แทนองค์กรศาสนาอื่นในพื้นที่ และผู้ทรงคุณวุฒิ แม้ว่าปัจจุบันพบว่า การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในด้านต่างๆของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานยังไม่ค่อยมีความชัดเจนในบทบาท และการดำเนินงานมากนักแต่ก็ส่งผลให้ชุมชนและ ศพด.จำเป็นต้องหันกลับมาทบทวนบทบาท หน้าที่ และความสำคัญซึ่งกันและกันอีกครั้งหนึ่ง ศพด.มีบทบาทในการสร้างเยาวชนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ขณะเดียวกันชุมชนก็มีบทบาทและความสำคัญต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนในแง่ของการเป็นแหล่งเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยมของสังคม และภาระหน้าที่ที่จะให้การอบรมกล่อมเกลาแก่สมาชิกในสังคม ซึ่งรวมถึงเยาวชนด้วย เพื่อให้รู้จักกฎเกณฑ์ แบบแผนของสังคมในวิถีชีวิตที่เป็นจริง เพื่อให้เยาวชนรู้จักบทบาทของตนเองและผู้อื่น ในประเด็นดังกล่าวนี้สอดคล้องกับ อุทัย ดุลยเกษมและอรศรี งามวิทยาพงศ์ (2540) ที่เสนอแนวคิดเรื่องกระบวนการศึกษาของชุมชน มีส่วนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนว่า ฐานการเรียนรู้ แหล่งให้การศึกษาเรียนรู้ มีอยู่รอบตัวทั้งในครอบครัว ในชุมชน ในวัด ในเมือง ในธรรมชาติ ฯลฯ เช่นเดียวกับผู้ให้การเรียนรู้มีมากมายหลากหลาย ทั้งพ่อ แม่ ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา เพื่อน พระ นักบวช ผู้นำศาสนา ครูช่าง พ่อค้า หมอพื้นบ้าน แม้กระทั่งต้นไม้ สัตว์ป่าสัตว์เลี้ยง ฯลฯ เป็นกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในวิถีชีวิตของบุคคลอย่างไม่เป็นทางการ มีผลให้บุคคล (เด็ก) สั่งสมความรู้ ทักษะ ค่านิยม วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ในเรื่องต่างๆจนสามารถดำรงชีวิต และเลี้ยงชีพด้วยตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่นและชุมชนได้ รวมทั้งถ่ายทอดสิ่งที่ตนเรียนรู้ ไปสู่ผู้อื่นด้วย ขณะเดียวกันความเข้มแข็งของชุมชนก็ขึ้นอยู่กับค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม ที่สมาชิกในสังคม ชุมชนยึดถือปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม ที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมแบบร่วมมือ และหลักของการอยู่ร่วมกัน ของผู้คนในสังคม และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ นำมาซึ่งความสงบสุขของชุมชน
แชร์ข่าวนี้