- สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลาไหล
- สังกัด อปท. จังหวัด เพชรบุรี
- ผู้จัดทำ นางชาลิสา พรหมเมือง วันที่สร้าง 1 กุมภาพันธ์ 2556, 16:31 น.
- ประเภทตัวชี้วัด ด้านสุขอนามัยเด็กและสุขาภิบาลของสถานศึกษา
ไอโอดีนเป็นสารอาหารประเภทเกลือแร่ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะมีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองและเสริมสร้างสติปัญญาให้กับเด็กทุกวัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงที่มีการเจริญเติบโตในครรภ์ คือตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์จนถึงอายุ 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีการพัฒนาสมองมากถึงร้อยละ 80 ร่างกายจะใช้ไอโอดีนในการเพิ่มจำนวนและขนาดของเซลล์สมอง รวมทั้งสร้างใยประสาทเชื่อมต่อกัน ถ้าร่างกายได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอกับความต้องการ จะปรากฏอาการต่าง ๆ แตกต่างกันไป การที่สารไอโอดีนมีความสำคัญดังกล่าวเนื่องจาก ไอโอดีนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของฮอร์โมนไทรอกซิน (thyroxin) ที่ผลิตจากต่อมไทรอยด์ ฮอร์โมนนี้ควบคุมอัตราเมแทบอลิซึมของร่างกาย ถ้าร่างกายสร้างฮอร์โมนไทรอกซินได้น้อยกว่าปกติ ก็จะทำให้เกิดอาการแตกต่างกันไปในเด็ก และผู้ใหญ่ ถ้าหากวัยเด็กขาดฮอร์โมนไทรอกซิน จะทำให้การพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญาลดลง ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตช้ากว่าปกติและปัญญาอ่อน ผิวหนังหยาบแห้ง ผมบาง แขนและขาสั้น ส่วนวัยผู้ใหญ่ที่ขาดฮอร์โมนไทรอกซินจะมีอาการเหนื่อยง่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผมและผิวหนังแห้ง หัวใจโต ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เฉื่อยชาและความจำเสื่อม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่ขาดสารไอโอดีนจะเกิดอาการโรคคอพอก (simple goiter) อีกด้วย อย่างไรก็ตามได้มีรายการศึกษาความผิดปกติของการขาดสารไอโอดีน พบว่า ถ้าขาดไอโอดีน ร้อยละ 1 – 10 จะแสดงอาการในลักษณะของปัญญาอ่อนหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโรคเอ๋อ ถ้าขาดไอโอดีนร้อยละ 10 – 30 จะทำให้ระดับสติปัญญาต่ำอย่างมาก ในลักษณะที่เรียกว่า ปัญญาทึบ การขาดไอโอดีนจึงส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ ถ้าหากคนไทยกลุ่มใดขาดสารไอโอดีนก็จะมีผลกระทบต่อคุณภาพประชากรของประเทศ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอบต.หนองปลาไหลแจ้งข่าวสารเรื่องไอโอดีนให้ผู้ปกครองและคนชุมชนทราบถึงแหล่งอาหารที่มีไอโอดีน ประโยชน์ และโทษถ้าไม่ได้รับไอโอดีนในปริมาณที่ต้องการต่อวันในแต่ละกลุ่มอายุเช่น ทารกเกิด-5ปี 90ไมโครกรัม เด็กวัยเรียน 120 ไมโครกลัม(6-12ปี)เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ 150 ไมโครกรัม หญิงตั้งครรภ์ 250 ไมโครกรัม หญิงให้นมบุตร 250 ไมโครกรัม
แชร์ข่าวนี้