- สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลปะนาเระ
- สังกัด อปท. จังหวัด ปัตตานี
- ผู้จัดทำ นางสาวอาอีดะ เจะมู วันที่สร้าง 7 มีนาคม 2562, 13:44 น.
- ประเภทตัวชี้วัด ผู้เรียนมีสุขนิสัย สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกรับประทานของเด็กนั้นมีมากมายและหลากหลาย ตั้งแต่อิทธิพลของครอบครัว เพื่อน สังคม ไปจนถึงสื่อบันเทิง รวมทั้งอีกหนึ่งปัจจัยที่ขาดไปไม่ได้เลย ซึ่งก็คือ “โรงเรียน” ด้วยเหตุนี้ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้สร้างทัศนคติที่ดีต่อการรับประทานผักให้เกิดขึ้นแก่เด็ก เพื่อเปลี่ยนนักเรียนที่เกลียดผักให้กลายเป็นเด็กที่รักการรับประทานผัก ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้เด็กมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงแล้ว เด็กก็อาจมีส่วนในการชักชวนเพื่อนให้หันมารับประทานผักด้วยกันก็เป็นได้วิธีการที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้เด็กรู้สึกคุ้นเคยกับผักก็คือการทำให้เด็กรู้จักผัก โดยครูควรนำผักมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งอาจโยงไปได้ถึงการสอนความรู้แขนงอื่น เช่น ผักและสี ประโยชน์ของผัก ผักและจำนวนนับ คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นต้น จากนั้น ครูควรทำให้เด็กเข้าใกล้ผักมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยกิจกรรม “สวนผัก” โดยให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ทั้งนี้เพราะเมื่อเด็กรู้สึกว่าสิ่งที่เขาสร้างขึ้นด้วยกำลังของตัวเองกำลังเติบโต ย่อมทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ และอยากลิ้มลองรสชาติอันเกิดจากความทุ่มเทของเขา ยิ่งไปกว่านั้น ครูอาจจัดกิจกรรมให้เด็กประกอบอาหารจากสวนผักของตนเอง ซึ่งจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน ตื่นเต้น และอยากมีส่วนร่วม อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางบวก ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนของนิสัยเลือกรับประทานของเด็กไปตลอดชีวิตได้เช่นกัน ท้ายที่สุด ครูควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน เพราะหากครูสามารถแสดงให้เด็กเห็นถึงความสำคัญของการรับประทานผัก และเปลี่ยนให้เด็กคิดได้ว่าการรับประทานผักไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด พวกเขาย่อมมีความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะลุกขึ้นมาลองรับประทานผักอีกครั้ง
แชร์ข่าวนี้