- สร้างโดย โรงเรียนอนุบาลสุขสวัสดิ์
- สังกัด สพป. จังหวัด สมุทรปราการ
- ผู้จัดทำ นงลักษณ์ เล็ดรอด วันที่สร้าง 4 กันยายน 2561, 15:48 น.
- ประเภทตัวชี้วัด สถานศึกษาสามารถจัดการประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสําคัญ
GM ทักษะกระโดดสองเท้าพร้อมกันไปด้านข้างและกระโดดถอยหลัง ครูนำเข้าสู่กิจกรรมร้องเล่นเต้นรำด้วยการเคลื่อนไหวกิจกรรมพื้นฐานเพื่อให้เด็กได้อบอุ่นร่างกายปฏิบัติตามสัญญาณและคำสั่ง ให้เด็กจัดแถวเป็นแถวหน้ากระดาน 4 แถว เพื่อครูจะได้สังเกตประเมินทักษะการกระโดดของเด็ก โดยให้เด็กพูดเนื้อเพลง สวัสดีเพื่อนรักเรา (เนื้อเพลงและทำนองมาจากการอบรมการประเมินพัฒนาการ ตามแนวคิด DSPM) ตามครูทีละประโยคและทำท่าทางประกอบเนื้อเพลง เด็กทุกคนมีความสุขและสนุกกับการทำท่าทางประกอบ ครูบอกข้อตกลงว่าเมื่อเพลงจบ นับ 1 ให้กระโดดสองเท้าพร้อมกันไปทางซ้าย นับ 2 ให้กระโดดกลับมาทางขวา นับ 3 ให้กระโดดสองเท้าพร้อมกันไปทางขวา นับ 4 ให้กระโดดกลับมาทางซ้าย (ที่เดิม)ครูจะร้องเพลงช้า ๆ เพื่อให้เด็กได้ทำท่าและกระโดดได้อย่างไม่รีบเร่ง หยุดร้องได้เพื่อรอเด็กที่ยังไม่พร้อม โดยครูสังเกตการเคลื่อนไหวของเด็ก เมื่อเด็กเริ่มทำได้มากขึ้น ครูเพิ่มข้อตกลงว่าเมื่อกระโดดครบ 1 - 4 แล้ว ครูพูดว่า ก ไก่ ให้กระโดดสองเท้าไปข้างหน้า ข ไข่กระโดดถอยหลังกลับ ข ขวด กระโดดสองเท้าถอยหลัง ค ควายกระโดดกลับมาข้างหน้า(ที่เดิม) ให้เวลาเด็กในการกระโดด ครูสังเกตประเมินทักษะการกระโดด เด็กมีความสุขและไม่รู้ตัวว่าถูกประเมิน แต่เมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนแล้วเด็กพอทำได้แต่ยังขาดการเล่นที่ท้าทายสำหรับเด็ก ครูจึงให้เด็กแถวที่ 1 หันหลังกลับไปเอามือจับคู่กับคนที่อยู่แถวที่ 2 เด็กแถวที่ 3 หันหลังกลับไปเอามือจับคู่กับคนที่อยู่แถวที่ 4 ดังนั้นเมื่อเด็กและครูช่วยกันร้องเพลง นับ 1 จึงเป็นการกระโดดไปทางหน้าต่าง (แทนทางซ้าย) นับ 2 กระโดดกลับมา นับ 3 กระโดดไปทางประตู (แทนทางขวา) และนับ 4 กระโดดกลับมา (ที่เดิม) ครูอธิบายเพิ่มเติมให้เด็กฟังว่าเวลาเราหันหน้าเข้าหากัน มือซ้ายของเราจับมือขวาของเพื่อนเหมือนเราส่องกระจก เมื่อเด็กพอทำได้ ครูจึงเพิ่มการกระโดดสองเท้าพร้อมกันไปข้างหน้าและกระโดดถอยหลังเมื่อพูดตัวพยัญชนะซึ่งก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะข้างหน้าของเด็กคนหนึ่งก็เป็นข้างหลังของเด็กอีกคนหนึ่ง ครูจึงบอกให้กระโดดไปทางหน้าห้องเรียนกับกระโดดไปทางด้านหลังห้อง ซึ่งการที่เด็กจับคู่กันและจับมือกันในการกระโดดทำให้เด็กสนุกเพราะเหมือนเป็นการเล่นกับเพื่อน ครูจัดกิจกรรมร้องเล่นเต้นรำเล่นกับเด็กอีกครั้งในวันต่อมาซึ่งเด็กเริ่มทำได้มากขึ้นไม่ชนกัน และในห้องเรียนครูพบว่า มีเด็กที่ควรส่งเสริมทักษะกระโดดไปด้านข้างและกระโดดถอยหลัง ครูสังเกตและร้องเพลงให้มีจังหวะกระโดดช้าลงและบอกเด็กๆว่ารอน้องหน่อยนะ ซึ่งเด็กทุกคนเข้าใจเนื่องจากสุขภาพน้องไม่ค่อยแข็งแรง แต่เด็กๆจะชอบให้มีจังหวะที่ช้าบ้าง เร็วบ้าง โดยครูต้องคอยดูแลเด็กให้คำนึงถึงความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ครูพบว่าเด็กในห้องเรียนของครูมีความเข้าใจในเรื่องของการบอกตำแหน่ง ทิศทาง และระยะทางด้วย การกระทำ โดยเมื่อเสร็จกิจกรรมแล้วมีคำถามของเด็กเกี่ยวกับทิศทางและตำแหน่ง มีการสนทนาโต้ตอบและร่วมกันแสดงความคิดเห็น ดังนั้นกิจกรรมร้องเล่นเต้นรำครูสามารถประเมิน GM ทักษะการกระโดดสองเท้าพร้อมกันไปด้านข้างและกระโดดถอยหลังได้ เด็กมีพัฒนาการการประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มีพัฒนาการด้าน EF โดยสามารถปฏิบัติตามกติกาในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น พูดโต้ตอบ อดทนรอคอยในเวลาที่เหมาะสม มีน้ำใจต่อเพื่อน เด็กมีความสุข สนุกกับเพลงและการเคลื่อนไหว ครูภูมิใจที่การประเมินกลายเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการและพัฒนาเด็กได้อย่างรอบด้าน
แชร์ข่าวนี้