- สร้างโดย บางกอบัว
- สังกัด อปท. จังหวัด สมุทรปราการ
- ผู้จัดทำ แพรวพรรณ นาคทับ วันที่สร้าง 1 สิงหาคม 2559, 15:39 น.
- ประเภทตัวชี้วัด สถานศึกษามีการจัดการศึกษาโดยใช้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นฐาน
ชื่อข่าว "แม่ร้อง! ร.ร.ย่านฝั่งธนลงโทษตีมือลูกสาวชั้นป.5 จนกระดูกนิ้วก้อยกับนิ้วนางแตกร้าว" มีเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เริ่มต้นจากการขาดเรียนสามวัน ทำให้เธอตามงานไม่ทัน ถูกทำโทษหลายวิธี และหนึ่งในวิธีที่ใช้ทำโทษ ก็คือการตี แต่ผลที่ตามมาก็คือ เด็กคนนั้นมือบวม และมีอาการปวดมาก เมื่อไปพบแพทย์ก็พบว่ากระดูกนิ้วนางและนิ้วก้อยร้าว 1) อยู่โรงเรียนนี้ต่อดีไหมอย่างที่คุณแม่ถามในกระทู้นะคะ หลักที่สำคัญที่สุด ก็คือ สวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็ก อันนี้เป็นโจทย์แรก เด็กควรจะได้รับการดูแลปกป้องตามสมควร ให้ได้รับความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นหากที่ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นบ้าน/โรงเรียน มีความไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็น ที่จะต้องจัดการดูแล เช่น หากโรงเรียนไม่สามารถทำให้เกิดความปลอดภัยสำหรับเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กรังแกกันรุนแรง ครูทำโทษ/ทำร้ายนักเรียน และจัดการแก้ไขให้ปลอดภัยไม่ได้ ก็ควรจะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นที่ปลอดภัยมากกว่า 2) เรื่องของการตี ถ้าเด็กทำผิด ผู้ใหญ่อยากให้เด็กเรียนรู้ แล้วจะตีได้ไหม การตีเด็กก็เป็นการปรับพฤติกรรมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การตีอาจจะช่วยให้พฤติกรรมเด็กที่เราอยากให้ลดละเลิกเกิดขึ้นน้อยลง และมันก็หยุดเด็กที่ทำตัวไม่ดีได้เร็วดี แต่ข้อไม่ดีก็คือการตีเป็นการทำโทษที่ทำให้สัมพันธภาพของคนที่ตีและคนที่ถูกตีเสียไปได้ง่าย ยิ่งเป็นการตีที่รุนแรง ใช้อารมณ์ มีคำพูดด่าทอดุว่ารุนแรงผสมเข้าไป นอกจากนั้นการตีที่รุนแรง ตีบ่อยครั้ง ตีโดยไม่รับฟังและไม่เห็นอกเห็นใจ ก็อาจจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ตีเขาไม่เข้าใจ คิดว่าไม่รักเขาหรือเปล่า ถ้าเป็นนานๆก็จะส่งผลให้เด็กรู้สึกขาดความเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจในตัวผู้ใหญ่ที่ตีเค้ารุนแรง นำไปสู่การมองตัวเองในแง่ลบ ไม่มั่นใจ มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง กลายเป็นคนที่อารมณ์ไม่มั่นคง ทุกข์ง่าย สุขยาก บางทีก็มีการใช้ความรุนแรงกับคนรอบข้างตอนเป็นผู้ใหญ่ เพราะเรียนรู้ซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว 3) ถ้าจะตี ควรมีหลักที่เหมาะสมในการตีให้เกิดผลกระทบทางลบน้อยที่สุด - อย่าใช้อารมณ์เวลาที่เราตีเด็ก อย่าตีเวลาโกรธ เพราะจะทำให้มีอารมณ์ผสมไปด้วย ทำให้ตี รุนแรง โดยไม่ได้ตั้งใจ ให้ตีตอนที่ใจเย็นลงแล้ว - พยายามใช้มือตี ไม่ใช้วัสดุอื่นในการตี เพราะจะทำให้คนตีรู้ว่าตีแรงไปหรือไม่ - ใช้มือตีที่มือเด็ก อย่าตีที่บริเวณอื่น เช่น ตีหน้า ตีหัว เพราะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ดี - บอกเด็กด้วยเหตุผลว่าที่เราตีเด็กเพราะอะไร และจะตีกี่ครั้ง - ให้คิดถึงใจเขาใจเราเวลาที่ตีเด็ก คิดว่าถ้าเราเป็นเด็กจะรู้สึกอย่างไร น่าจะทำให้การตี ของเราไม่รุนแรงเกินไปนัก 4) ถ้าไม่ตี จะมีวิธีอื่นที่สามารถปรับพฤติกรรมเด็กได้ไหม ในความเป็นจริง นอกจากการตี ก็มีหลายวิธีที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ผิดถูก เช่น การตัดสิทธิ์ที่ชอบ ทำความดีเพื่อชดเชย เป็นต้น ใช้วิธีการปรับพฤติกรรมวิธีอื่นจะดีกว่าการตี แต่อาจจะยากและช้ากว่า ต้องอดทน 5) เรื่องของสภาพจิตใจเด็ก มีคำพูดที่บอกว่า เจ็บกายก็ไม่เท่าไหร่แต่เจ็บใจนี่หนักหนาอะไรยาวนานยิ่งกว่า ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้น โดยเฉพาะเมื่อเด็กคนหนึ่งได้รับการลงโทษที่รุนแรงโดยปราศจากความเห็นอกเห็นใจจากคนที่รักและเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู ก็ตาม ย่อมมีผลกระทบทางจิตใจอยู่แล้ว สิ่งที่ผู้ปกครองทำได้ในกรณีที่เด็กถูกครูตีมาหนึ่ง คือ ดูแลสภาพความเจ็บปวดทางร่างกาย ให้กำลังใจ พ่อแม่หลายคนถ้ารู้ว่าลูกถูกตี คำแรกที่จะถามก็คือ แล้วไปทำอะไรมาถึงถูกตี ซึ่งในความเป็นจริงเด็กคงอยากให้เราปลอบและให้กำลังใจก่อน แล้วค่อยไถ่ถามก็คงไม่สายเกินไป ต่อมาถ้าเด็กยังมีความกลัวพ่อแม่ให้ความมั่นใจว่า พ่อแม่สามารถปกป้องและเขาสามารถพึ่งพาพ่อแม่ได้ ให้เขารู้สึกมั่นคงปลอดภัยทางร่างกายและใจ ซึ่งเด็กบางคนมีภาวะเครียดภายหลังเหตุการณ์ อาจจะมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ ฝันร้าย ไม่เล่นร่าเริงเหมือนเดิม ถ้าเป็นแบบนั้นควรจะพาเด็กมาพบกับจิตแพทย์เด็กเพื่อรับการประเมินทางสภาวะจิตใจ และรับความช่วยเหลือต่อไปค่ะ อ้างอิง หนังสือพิมพ์ประชามติ.(8 ก.ค. 2559).แม่ร้อง!ร.ร.ย่านฝั่งธนลงโทษตีมือลูกสาวชั้นประถม.5 จนกระดูกนิ้วก้อย - นางแตกร้าว!. (2559). http://m.prachachat.net/news_detail.
แชร์ข่าวนี้