- สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย"ทีปังกรการุณยมิตร"หนองบอน
- สังกัด อปท. จังหวัด มหาสารคาม
- ผู้จัดทำ นางสาวภัทธรา อ่อนธรรมา วันที่สร้าง 30 มีนาคม 2559, 08:04 น.
- ประเภทตัวชี้วัด ผู้เรียนมีทักษะการคิด,ภาษา,การสังเกต,การจำแนก,การเปรียบเทียบและแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย
ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารหรือสื่อความหมายให้เข้าใจซึ่งกันและกัน โดยอาศัยกระบวนการพัฒนาทางภาษา ซึ่งประกอบด้วยการรับข้อมูล และการส่งข้อมูลผ่านการคิดและสัญลักษณ์ ภาษามีความสำคัญต่อการศึกษาในทุกระดับโดยเฉพาะในระดับปฐมวัย พัฒนาการทางภาษาของเด็กอายุ 0 –6 ปี เป็นรากฐานสำคัญและมีความจำเป็นที่สุดต่อการพัฒนาทางด้านสติปัญญาและศักยภาพของมนุษย์ เนื่องจากภาษาเป็นระบบที่มีความซับซ้อน เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทางด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัย เด็กจะใช้ภาษาในการสื่อสารความคิด ความต้องการของตนเองกับผู้อื่น นอกจากนี้เด็กยังใช้ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะทางสติปัญญาและพัฒนาทักษะในด้านอื่นๆ จากการศึกษาความสำคัญของภาษาที่มีต่อเด็กปฐมวัย สามารถสรุปได้ว่าภาษามีความสำคัญดังนี้ ภาษาก่อให้เกิดกระบวนการทางสังคมประกิต (Socialization) หมายถึงเด็กจะใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารถ่ายทอดความรู้ ความคิด ทักษะและเจตคติจากเด็กรุ่นหนึ่งไปยังเด็กอีกรุ่นหนึ่งเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดแนวทางการปฏิบัติให้มีทิศทางเดียวกัน เช่น เด็กในชั้นเรียนที่โตกว่าจะถ่ายทอดแนวทางการปฏิบัติตนต่อครูประจำชั้นให้กับนักเรียนรุ่นน้องได้ปฏิบัติตาม ซึ่งลักษณะการปฏิบัตินั้นๆ เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับและอยู่ในศีลธรรมอันดีเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นต้นภาษาเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการการทางสติปัญญา จากการศึกษาผลการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการทางภาษากับระดับสติปัญญาพบว่า เด็กที่มีความสามารถทางภาษามีแนวโน้มที่จะมีระดับสติปัญญาหรือมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงด้วย ซึ่งไวก็อตสกี้ (Vygotsky) กล่าวว่า ภาษามีความสัมพันธ์กับการคิด ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญของการคิด ในช่วงต้นของชีวิตเด็กจะใช้ภาษาในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นซึ่งเรียกว่าเป็นภาษาสังคม (Social Speech) ต่อมาเด็กจะใช้ภาษาที่พูดกับตัวเอง (Private Speech) เพื่อแนะนำการปฏิบัติของตัวเด็กเองในการแก้ไขปัญหาที่เด็กต้องเผชิญ ภาษาจึงเป็นเครื่องสำคัญที่ใช้ในการเรียนรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ภาษาช่วยให้เด็กรับรู้ข้อมูลต่างๆ เมื่อเด็กรับรู้ผ่านทางภาษาเด็กจะทำความเข้าใจและพยายามตอบสนองอย่างเหมาะสม เด็กเรียนรู้ภาษาไทยไปพร้อมกับการเรียนรู้คำศัพท์และความคิดรวบยอด เมื่อรู้คำศัพท์เพิ่มมากขึ้น จะทำให้เด็กสามารถขยายการเรียนรู้คำศัพท์ที่มีความยากและวับซ้อนมากขึ้น ทั้งในการเรียนรู้ความหมายของคำศัพท์นั้น และเด็กจะเรียนรู้ความคิดรวบยอดทางภาษาอย่างง่าย นำไปสู่ความคิดรวบยอดที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมต่างๆได้ดีขึ้น ดังนั้นความสามารถในการใช้ภาษาจึงเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดทางไปสู่ความรอบรู้ทางด้านต่างๆ ทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านสติปัญญาและพัฒนาชีวิตไปพร้อมๆ กัน
แชร์ข่าวนี้