- สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลบึงบา
- สังกัด อปท. จังหวัด ปทุมธานี
- ผู้จัดทำ นางสาวสุวิมล ทองจัด วันที่สร้าง 12 มีนาคม 2559, 13:20 น.
- ประเภทตัวชี้วัด สถานศึกษาสามารถจัดการประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสําคัญ
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญระดับปฐมวัย หมายถึง การที่ครูส่งเสริมและสนับสนุนเด็กปฐมวัยได้พัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามวัยซึ่งสมดุลทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยผ่านกิจกรรมลักษณะต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ให้เด็กได้ปฏิบัติและค้นคิดข้อความรู้ด้วยตนเอง ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับครู เพื่อน และคนอื่นๆ ในสภาพแวดล้อม สื่อ สาระการเรียนรู้ทางการศึกษาปฐมวัยที่ครูได้วางแผนไว้บนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจธรรมชาติของเด็กปฐมวัย การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ดังกล่าว ช่วยเน้นความสามารถในการเรียนรู้และการพัฒนาเด็กแต่ละคนให้เต็มศักยภาพ โดยการให้เด็กมีส่วนร่วมในการวางแผนกิจกรรม ได้ปฏิบัติด้วยตนเอง และมีส่วนร่วมในการประเมินผล โดยครูลดบทบาทลงจากผู้สอน หรือผู้ถ่ายทอดความรู้เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ให้เด็กเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ เพื่อแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญระดับปฐมวัย มีความสำคัญดังนี้ (1) ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ตามความสนใจ ความถนัดของตนเอง (2) ส่งเสริมให้เด็กได้ปฏิบัติ คิดค้นหาคำตอบและสร้างข้อความรู้ (3) ส่งเสริมให้เด็กมีสังคมและสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น จากการเรียนและร่วมมือกับเพื่อน กับครู และผู้อื่น (4) ส่งเสริมให้เด็กรักและภาคภูมิใจในตนเอง สามารถสร้างความดีงามในชีวิตได้ต่อไป หรือรู้คุณค่าของชีวิต (5) ส่งเสริมให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม (6) ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะพื้นฐานที่จะเรียนในระดับประถมต่อไป เนื่องจากการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญได้ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 22 ด้านกระบวนการเรียนรู้ว่า “การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ” ดังนั้น สถานศึกษาทุกแห่งในประเทศไทยจึงต้องจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ แต่อาจมีมากหรือน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละสถานศึกษา โดยอาจสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมประจำวันที่พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถสังเกตเห็นได้ ดังนี้ • การจัดผ่านกิจวัตรประจำวัน ตั้งแต่เช้าที่ครูรับเด็กมา โดยทั่วไปสถานพัฒนาเด็กระดับปฐมวัยหรือโรงเรียนอนุบาลจะจัดประสบการณ์ให้เด็กผ่านกิจกรรมการตรวจสุขภาพจากครูเวรหรือครูประจำชั้น เป็นการตรวจแบบไม่เป็นทางการ คือ ครูสังเกตหรือสัมผัสร่างกายเด็ก กิจกรรมการเคารพธงชาติ การสวดมนต์ การรับประทานอาหารว่างและอาหารกลางวัน การทำความสะอาดร่างกาย การนอนพักผ่อน การขับถ่าย และการทำความสะอาดห้องเรียนหรือบริเวณโรงเรียน • การจัดผ่านกิจกรรมหลักตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ได้แก่ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง และเกมการศึกษา ซึ่งครูเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก เมื่อครูเห็นโอกาสที่เหมาะสม และเด็กต้องการความช่วยเหลือจากครู ครูจึงไม่ได้วางแผนการจัดประสบการณ์มาก่อน และเด็กเป็นคนคิด เลือก และปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง • การจัดผ่านโครงงานตามความสนใจของเด็ก โดยเปิดโอกาสให้เด็กแสวงหาคำตอบในเรื่องที่สนใจ จากแหล่งเรียนรู้โดยมีครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก การจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจะประสบความสำเร็จได้ต่อเมื่อครูลดบทบาทในห้องเรียนลงเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็ก เช่น จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ หนังสือ ข้อมูล เพื่อให้เด็กได้ใช้ความสามารถในการแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ
แชร์ข่าวนี้