- สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.นิคมพัฒนา
- สังกัด อปท. จังหวัด ระยอง
- ผู้จัดทำ นางสาววิมล สดคมขำ วันที่สร้าง 9 เมษายน 2556, 05:17 น.
- ประเภทตัวชี้วัด ด้านการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย
สัปดาห์นี้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้เรื่อง ผักสดสะอาด เด็ก ๆ ให้ความสนใจเกี่ยวกับผักที่ตนเองนำมาจากบ้านและผักของเพื่อน ๆ ต่างพากันสงสัยว่าผักต่าง ๆ ที่นำมาจะสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง ทำอาหารอะไรได้บ้าง น้องเอบอกว่าน้องเอเคยรับประทานผัดผัก โดยคุณแม่ใส่ผักต่าง ๆ ที่เรานำมาสามารถใส่ได้เกือบทุกอย่างเป็นผัดผักรวมมิตร เด็ก ๆ ให้ความสนใจในความคิดของน้องเอจึงตกลงกันว่าจะทำผัดผักแสนอร่อยร่วมกัน ก่อนอื่นขอนำเสนอเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับกับโครงงานก่อนนะคะ โครงงาน คือ งานวิจัยเล็กๆสำหรับนักเรียน เป็นการแก้ปัญหาหรือข้อสงสัย หาคำตอบโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หากเนื้อหาหรือข้อสงสัยเป็นไปตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ใด จะเรียกว่าโครงงานในกลุ่มสาระนั้นๆ สำหรับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ คือ 1. เมื่อนักเรียนเกิดปัญหา 2. นักเรียนก็ตอบปัญหาชั่วคราว (สมมุติฐาน) 3. นักเรียนจะต้องออกแบบการทดลอง เพื่อพิสูจน์ปัญหาว่าจริงหรือไม่ 4. ทำการทดลอง หรือศึกษาค้นคว้าเพื่อสรุปผล 4.1 ถ้าคำตอบไม่ตรงกับสมมุติฐาน ก็ตั้งสมมุติฐานใหม่ และทำข้อ 3 ข้อ4 จนเป็นจริง 4.2 เมื่อคำตอบตรงกับสมมุติฐาน ก็จะทำให้ได้รับความรู้ใหม่ และเกิดคำถามใหม่ 5. นำผลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ ในการที่นักเรียนจะทำโครงงานในกลุ่มสาระใด นักเรียนจะเป็นผู้ที่เลือกหัวข้อที่จะศึกษาค้นคว้า ดำเนินการวางแผน ออกแบบ ประดิษฐ์ สำรวจ ทดลอง เก็บรวบรวมข้อมูล รวมทั้งการแปรผล สรุปผล และการเสนอผลงาน โดยตัวนักเรียนเอง อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นเพียงผู้ดูแลและให้คำปรึกษาเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง กิจกรรมที่จัดว่าเป็นกิจกรรมโครงงานจะต้องประกอบด้วย 1. เป็นกิจกรรมที่มีเนื้อหาสาระตามกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้นๆ 2. นักเรียนจะต้องเป็นผู้ริเริ่มและเลือกเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ตามความสนใจและระดับความสามารถของนักเรียนแต่ละวัย 3. เป็นกิจกรรมที่มีการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยในการศึกษาค้นคว้า เพื่อตอบปัญหาที่สงสัย 4. นักเรียนเป็นผู้วางแผนในการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนดำเนินงานเก็บรวบรวมข้อมูล หรือประดิษฐ์คิดค้น รวมทั้งแปรผล สรุปผล และเสนอผลการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยมีครูอาจารย์เป็นที่ปรึกษาเท่านั้น ในการทำโครงงานในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ควรจะมีระยะเวลา และวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อนนัก และควรเป็นไปตามระดับสติปัญญาของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้นด้วย การสอนให้นักเรียนได้เรียนการจัดทำโครงงานนั้นอกจากจะมีคุณค่าทางด้านการฝึกให้นักเรียนมีความรู้ ความชำนาญและมีความมั่นใจ ในการนำเอาวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการแก้ปัญหา หรือค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ด้วยตนเองแล้ว ยังให้คุณค่าอื่นๆ คือ 1. รู้จักตอบปัญหาโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นคนที่หลงเชื่อ งมงายไร้เหตุผล 2. ได้ศึกษาค้นคว้า หาความรู้ในเรื่องที่ตนสนใจได้อย่างลึกซึ้งกว่าการสอน ของครู 3. ทำให้นักเรียนได้แสดงความสามารถพิเศษของตนเอง 4. ทำให้นักเรียนสนใจเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้นๆ มากยิ่งขึ้น 5. นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ประเภทของโครงงาน เนื่องจากโครงงาน คือ การแก้ปัญหาหรือข้อสงสัยของนักเรียน โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเนื้อหาหรือข้อสงสัยตรงกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ใด ก็จัดเป็นโครงงานในกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้นๆ จึงแบ่งโครงงานตามการได้มาซึ่งคำตอบของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ออกเป็น 4 ประเภท คือ 1. โครงงานประเภทสำรวจและรวบรวมข้อมูล 2. โครงงานประเภททดลอง 3. โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ 4. โครงงานประเภททฤษฎี ก่อนจะลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยโครงงานคุณครูต้องบอกถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติกิจกรรมเพื่อให้เด็กได้รับความปลอดภัยสูงสุดเพราะอุปกรณ์การประกอบอาหารต้องใช้ไฟฟ้าในการใช้งาน คุณครูต้องเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ระหว่างการปฏิบัติกิจกรรมนั้น เด็ก ๆ ให้ความสนใจและอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการผัดผัก บางคนก็เอาผักที่ตนเองฉีกแล้วนั้นไปยืนรออยู่หน้ากระทะเพื่อจะใส่ด้วยตนเอง ทำให้บริเวณที่ผัดผักเต็มไปด้วยเด็ก ๆ ใส่เสื้อสีชมพูจนมองไม่เห็นผัดผักในกระทะ จนคุณครูต้องแนะนำว่าให้รอตามลำดับ เด็ก ๆ จะได้ใส่ผักที่ตนเองเด็ดทุกคน หลังจากนั้นความวุ่นวายก็ลดลง ทำให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมได้อย่างราบรื่น หลังจากที่ให้เด็ก ๆ ได้ทำโครงงานทดลองการทำผัดผักสำเร็จแล้วเด็ก ๆ ได้นำผลงานผัดผักแสนอร่อยโดยฝีมือของตนเองมาร่วมกันชิม ทำให้เด็ก ๆ ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ และมีความภาคภูมิใจในผลงานของตนที่สามารถทำผัดผักได้ด้วยตนเอง วันนั้นเด็ก ๆ ได้รับความรู้ ความสนุกสนานผ่านการทำโครงงานผัดผักแสนอร่อยอย่างมากมาย
แชร์ข่าวนี้