- สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านถำเวียงแก
- สังกัด อปท. จังหวัด น่าน
- ผู้จัดทำ นางลัดดา มิ่งมิตรวิบูลย์ วันที่สร้าง 1 กุมภาพันธ์ 2556, 17:05 น.
- ประเภทตัวชี้วัด ประสบการณ์ : จากเรื่องเล่า ใต้ร่มพระบารมี
เมื่อได้ยินคำว่าวิทยาศาสตร์ หลายคนอาจจะนึกถึงวิชาที่ยากมากและสุดแสนจะน่าเบื่อนั่นอาจจะเป็นเพราะว่าเราเคยมีความฝังใจที่ไม่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์ ทำให้ไม่ชอบ ไม่เข้าใจ และกลัว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้เก่งได้ทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ เราควรสอนให้เด็กรู้จักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล พื้นฐานง่ายๆของวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การสังเกต การสงสัย การตั้งคำถาม และการทดลองหาคำตอบด้วยตนเองซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่ในตัวของเด็กอนุบาลจำนวนไม่น้อย เพราะเด็กวัยนี้ช่างสังเกต ช่างสงสัย ช่างซักถาม ให้เขาลงมือปฎิบัติด้วยตนเอง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือ จะต้องเป็นการเรียนรู้ที่ง่าย สนุก และอยากยัดเยียดสิ่งที่ยากเกินความเข้าใจของเด็ก เป้าหมายการสอน เป้าหมายการสอนวิทยาศาสตร์เด็กปฐมวัยตามความคิดของข้าพเจ้ามีดังนี้ 1. จุดประกายให้เกิดพัฒนาการทางความคิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น 2. พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เบื้องต้น โดยเน้นการใช้ประสาทสัมผัสในการสังเกตและทักษะการสื่อความโดยสามารถบรรยายผลการสังเกต หรือสื่อความด้วยการวาดภาพ 3. พัฒนาเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ความสนใจ ความชอบ และความตื่นเต้นกับการทดลอง กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย กิจกรรม ผงฟูวิเศษ จุดประสงค์ 1. ฝึกทักษะในการสังเกตและสื่อความ 2. กระตุ้นให้เกิดความสงสัยอยากรู้อยากเห็น 3. สร้างความสนใจและให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระหว่างผงฟูกับน้ำส้มสายชู อุปกรณ์ 1. ผงฟู 2. น้ำส้มสายชู 3. ชามกระเบื้อง 4. ถ้วยแก้ว ขั้นตอนจัดกิจกรรมการทดลอง ให้เด็กๆดูกล่องผงฟู ฝึกอ่านคำว่า ผงฟู แนะนำว่าผงฟูใช้ทำอะไรได้บ้าง แล้วจึงทำการทดลองดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 1. เทผงฟูลงในชามกระเบื้องประมาณ 1/2 ถ้วยตวง 2. ให้เด็กๆสังเกตและบรรยายลักษณะของผงฟู โดยลองจับ ดมกลิ่น และสังเกตสี แล้วตอบคำถามต่อไปนี้ - ผงฟูมีสีอะไร มีกลิ่นหรือไม่ เป็นผงหรือเป็นก้อน นิ่มหรือแข็ง 3. แนะนำให้เด็กรู้จักน้ำส้มสายชู อาจให้เด็กอ่านฉลากข้างขวด จากนั้นรินน้ำส้มสายชูลงในถ้วยประมาณ 1/2 ถ้วย 4. ให้เด็กสังเกตสี กลิ่น และอื่นๆ แล้วตอบคำถาม - กลิ่นของน้ำส้มสายชูเป็นอย่างไร - น้ำส้มสายชูมีสีหรือไม่ - น้ำส้มสายชูเป็นน้ำหรือเป็นผง 5. ให้เด็กๆทายว่า ถ้าครูเทน้ำส้มสายชูลงไปในผงฟูจะเกิดอะไรขึ้นคอยดูต่อไป 6. ครูเทน้ำส้มสายชูลงไปในผงฟูที่เตรียมไว้แล้วบอกให้เด็กๆเฝ้าสังเกตอย่างตั้งใจ 7. เด็กจะตื่นเต้นมากที่เห็นฟองฟู่ขึ้นมา 8. ประเมินผล 1. สังเกตการตอบคำถาม 2. สังเกตการร่วมกิจกรรม ข้อเสนอแนะ 1. เด็กเล็ก ( 3 ขวบ ) ครูอาจจัดการทดลองแบบสาธิตและให้เด็กมีส่วนร่วม
แชร์ข่าวนี้