เริ่มเก็บสถิติ    02/06/2557 ออนไลน์ : 1 วันนี้ : 1 เดือนนี้ : 6 เข้าใช้งานทั้งหมด : 108,081

โครงการความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (รมป.)

โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต


หลักการและเหตุผล

           การพัฒนาประเทศเพื่อให้สามารถก้าวสู่การแข่งขันในเวทีโลก ต้องพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาของชาติให้มรมาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2545 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 และนโยบายด้านการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความรู้ และเพื่อให้คนไทยทั้งปวงได้รับโอกาสเท่าเทียมกันทางการศึกษา พัฒนาคนได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต อันเป็นเงื่อนไขไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ที่พึงประสงค์

           การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนอย่างหนึ่ง ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชน และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นยุทธศาสตร์หลักในการสร้างกลไกและเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่งในการปฏิรูปการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย อย่างมีประสิทธิภาพ

           องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทและภารกิจที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการจัดการศึกษา เพื่อท้องถิ่น และชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษาในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย บุคลากรทางการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ ผู้ดูแลเด็กเล็ก จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้เกิดสมรรถนะในด้าน การปฏิบัติงานให้ได้ตามมาตรฐานหลักสูตร และมีความมั่นคงในวิชาชีพ

           บุคลากรสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีเป็นจำนวนมาก ที่จะต้องได้รับการพัฒนาในการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี จากการที่บุคลากรประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ จากกรมการพัฒนาชุมชน กรมศาสนา และสปช. ที่ได้ถ่ายโอนจากส่วนราชการเดิมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งขึ้นมาเองมีเป็นจำนวนมาก (ไม่น้อยกว่า 37,346) มีความต้องการในการพัฒนาตนเองให้มีความรู้ ความสามารถ และมีวุฒิการศึกษาที่สามารถได้รับใบประกอบวิชาชีพ อันจะเป็นการพัฒนาตนเองและท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงผาสุกของสังคม – เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge – Based Society and Economy)

           มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตตระหนักถึงความสำคัญ ในการพัฒนาบุคลากรสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง ที่จะส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาของชาติ และด้วยภารกิจที่สำคัญในฐานะสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ที่ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังงานปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังงานการเรียนรู้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัยให้การบริการวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี และทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมผลิตครู และส่งเสริมวิทยฐานะครู

           หน้าที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือ ประสานความร่วมมือ และช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของวิชาชีพครู ผลิตและพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ และมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง

           ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจึงได้จัดทำโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เพื่อรองรับการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตนั้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อม มีศักยภาพสูงในการบริหารจัดการได้อย่างดียิ่ง เนื่องจากมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการบริหารจัดการโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์

โครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
           1. เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพการศึกษา สำหรับบุคลากรสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
           2. เพื่อการบริการวิชาการในการพัฒนาสังคมในส่วนท้องถิ่น และชุมชนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรู้
           3. เพื่อสร้างเครือข่ายในการบริหารการศึกษาอย่างเป็นระบบ ในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและวิชาชีพ
           4. เพื่อให้ผู้ดูแลเด็ก ผู้ช่วยผู้ดูแลเด็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการพัฒนาให้มีวุฒิการศึกษาสูงขึ้น ได้รับใบประกอบวิชาชีพ และเป็นแนวทางในการพัฒนาความรู้ ความสามารถอันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ

กลุ่มเป้าหมาย

           1. เป็นพนักงานจ้าง (ภารกิจและทั่วไป ไม่รวมจ้างเหมา) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็ก หรือผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อเนื่องนับถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ไม่น้อยกว่า 1 ปี
           2. อายุไม่เกิน 50 ปี นับถึงวันสมัคร
           3. สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2557
           4. ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง หรือเป็นโรคที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
           5. ผ่านการคัดเลือก และได้รับอนุญาตจากหน่วยงานต้นสังกัด

ขอบเขตการจัดหลักสูตร

           ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ มท.0807.3/5081 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 เรื่องขอพิจารณาหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยและหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา สำหรับบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้พัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรี สำหรับผู้ดูแลเด็ก ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อจากหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการศึกษาตามโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ที่ใช้จัดการศึกษามาแล้วรวมระยะเวลา 5 ปี ซึ่งตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552 (ประกาศ ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2552) กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาจัดให้มีการประเมิน เพื่อพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยทุก ๆ 5 ปี และในปัจจุบันยังมีผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมาก ที่มีความประสงค์จะสมัครเข้ารับการศึกษา เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของผู้ดูแลเด็กให้มีศักยภาพในการบริหารและจัดการศึกษาปฐมวัย อันเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนากำลังคนของชาติในอนาคต

           มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้พิจารณาแล้วจึงได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย โดยนำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย (หลักสูตร 5 ปี) หลักสูตรปรับปรุง พุทธศักราช 2554 มาปรับปรุงให้เหมาะสมโดยปรับหลักสูตรในกลุ่มวิชาชีพครู จากการจัดการเรียนรู้ใน 9 กลุ่มมาตรฐานการเรียนรู้ของคุรุสภา มาปรับปรุงให้สอดคล้องกับข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ.2556 โดยให้ครอบคลุมมาตรฐานความรู้ (11 มาตรฐานความรู้) และประสบการณ์วิชาชีพตามข้อบังคับ สำหรับกลุ่มวิชาเอก (การศึกษาปฐมวัย) ใช้รายละเอียดของกลุ่มวิชาเอกเดิมปรับปรุงใหม่เป็นหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย (หลักสูตร 5 ปี) หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2557 ของคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เพื่อใช้สำหรับโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

           1. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้เสนอหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย (หลักสูตร 5 ปี) หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2557 ของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ตามโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตในการประชุมครั้งที่ 6(27)/2557 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 มีมติให้ความเห็นชอบหลักสูตร และอนุมัติการเปิดสอนตามแผนการรับนักศึกษาหลักสูตรดังกล่าว เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับทราบการให้ความเห็นชอบหลักสูตร รายละเอียดตามหนังสือที่ ศธ. 0566.01/1886 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2557

           2. หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย (หลักสูตร 5 ปี) (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2557) ของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ตามโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีสาระสรุปได้ดังนี้
                2.1 วัตถุประสงค์ของหลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาปฐมวัยให้มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
                     1) มีคุณธรรม จริยธรรมนำทางในการดำเนินชีวิต มีจรรยาบรรณเป็นหลักในการปฏิบัติตน มีจิตวิญญาณความเป็นครูปฐมวัยมืออาชีพ และมีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพครู สังคมและสิ่งแวดล้อม
                     2) สามารถจัดการเรียนรู้ด้านการศึกษาปฐมวัย และสามารถใช้ทักษะในการสื่อสารทำงานร่วมกับเด็ก ครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน และสังคมได้อย่างมีความสุข
                     3) มีความสามารถในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                     4) แสวงหาความรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง มีความสามารถในการคิด และพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จอยู่เสมอ
                     5) มีความรอบรู้ เชี่ยวชาญ เป็นผู้นำทางวิชาการ สามารถประยุกต์ความรู้ ความเข้าใจอันถ่องแท้ในทฤษฎี และระเบียบวิธีการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างความรู้ใหม่ไปใช้ในการปฏิบัติ และติดตามพัฒนาของศาสตร์ด้านการศึกษาปฐมวัย รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้และสมรรถนะของตนเองอยู่เสมอ
                2.2 ระบบการจัดการศึกษา จัดการศึกษาเป็นระบบทวิภาค โดย 1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา 1 ภาคการศึกษาปกติ มีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ โดยใน 1 ปีการศึกษามีการจัดการศึกษาภาคฤดูร้อน 1 ภาคฤดูร้อน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ๆ ละ 8 สัปดาห์ โดยให้กำหนดระยะเวลาและจำนวนหน่วยกิตที่มีสัดส่วนเทียบเคียงกันได้กับภาคปกติ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2548
                2.3 การดำเนินการหลักสูตร
                     1) มีการให้ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
                     2) จัดการเรียนการสอนทั้งในวัน – เวลาราชการปกติ และวันเสาร์ – วันอาทิตย์
                          - ภาคการศึกษาที่ 1 ระหว่างเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน
                          - ภาคการศึกษาที่ 2 ระหว่างเดือนธันวาคม – มีนาคม
                          - ภาคเรียนฤดูร้อน ระยะที่ 1 ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม
                          ระยะที่ 2 ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม
                     3) คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
                          - สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2557
                          - เป็นพนักงานจ้าง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็ก หรือผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อเนื่องนับถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 มาไม่น้อยกว่า 1 ปี
                          - อายุไม่เกิน 50 ปี นับถึงวันสมัครเข้าศึกษา
                          - ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง หรือเป็นโรคที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
                          - ผ่านการคัดเลือกและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานต้นสังกัด
                          - มีคุณลักษณะและบุคลิกภาพเหมาะสมกับการประกอบวิชาชีพครู
                     4) การคัดเลือกผู้เข้าศึกษา
                          - กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร โดยพิจารณาจากข้อมูลการปฏิบัติงานและหลักฐานที่ใช้สมัครเข้ารับการศึกษา โดยให้การรับรองและอนุมัติให้มาดำเนินการสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษา
                          - มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกของมหาวิทยาลัย หรือตามที่กำหนดในคู่มือการบริหารโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และตามประกาศของมหาวิทยาลัยราชภัฏเรื่องการรับสมัครนักศึกษาเข้าศึกษา ในหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ของโครงการความร่วมมือฯ
                     5) แผนการรับนักศึกษา มหาวิทยาลัยกำหนดแผนการรับนักศึกษา ปีการศึกษาละ 3,000 คน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป
                     6) ค่าใช้จ่ายในการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร คนละ 120,000 บาท (ระยะเวลาการศึกษา 13 ภาคเรียน)
                2.4 โครงสร้างหลักสูตรและอาจารย์ผู้สอน โครงสร้างหลักสูตร จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 171 หน่วยกิต
                     1) หมวดวิชาศึกษาทั่วไปไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต
                          1.1) กลุ่มวิชาภาษาไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต
                          1.2) กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต
                          1.3) กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต
                          1.4) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต
                          (ให้เลือกเรียนรายวิชาในกลุ่มวิชาใดวิชาหนึ่ง เพิ่มอีก 3 หน่วยกิต เพื่อให้ครบ 30 หน่วยกิต)
                     2) หมวดวิชาเฉพาะไม่น้อยกว่า 135 หน่วยกิต
                          2.1) กลุ่มวิชาชีพครู 51 หน่วยกิต
                          2.2) กลุ่มวิชาเอก 84 หน่วยกิต
                               2.2.1 กลุ่มวิชาเอกบังคับ 54 หน่วยกิต
                               2.2.2 กลุ่มวิชาเอกเลือก 30 หน่วยกิต
                     3) หมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต

หมายเหตุ

           1. การฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน นักศึกษาต้องได้รับการฝึกทั้ง 2 แนวทาง คือ
                แนวทางที่ 1 นักศึกษามีแหล่งเรียนรู้ที่ใช้โรงเรียน/สถานศึกษาเป็นฐาน คือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ปฏิบัติงานประจำอยู่ ตั้งแต่วันแรกและตลอดระยะเวลาในการศึกษาตามโครงการ นักศึกษาจะได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพโดยตรง ระหว่างเรียนในทุก ๆ รายวิชาในขณะเรียนภาคทฤษฎีในวัน เสาร์ – อาทิตย์ และนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในการปฏิบัติงานในวันธรรมดา ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยการแนะนำและให้คำปรึกษาช่วยเหลือจากผู้สอนรายวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาชีพศึกษานิเทศและผู้เกี่ยวข้องของกองการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้น ๆ สังกัดอยู่ ทั้งนี้การฝึกปฏิบัติวิชาชีพในขณะ/ระหว่างเรียนแนวทางที่ 1 นั้น จะนับเป็นกิจกรรมหนึ่งในการประเมินผลการเรียนรู้ในรายวิชาต่าง ๆ ในภาคการศึกษานั้น ๆ ด้วย
                แนวทางที่ 2 นักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียนในรายวิชาเตรียมฝึกประสบการณ์วิชาชีพ (Practicum) ในสถานศึกษาหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่องค์กรวิชาชีพทางการศึกษาและตามที่หลักสูตรกำหนด ภายใต้การแนะนำ ติดตาม และกำกับดูแลของผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาชีพ
           2. การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ นักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติวิชาชีพในรายวิชาการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ในสาขาวิชาเฉพาะ (Internship / Externship 1,2) โดยจะต้องไปทำการสอนในสถานศึกษาที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ และเงื่อนไขขององค์กรวิชาชีพทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ตามหลักสูตรกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา
                2.5 สถานที่จัดการเรียนการสอน จัดการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และสถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย 10 แห่ง โดยใช้หลักสูตรและแนวทางในการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตรับผิดชอบในการปรับปรุงหลักสูตรและแนวทางในการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ระดับปริญญาตรี พ.ศ.2548 ของกระทรวงศึกษาธิการ และสอดคล้องกับบริบทของผู้เรียน ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
                2.6 มาตรฐานผลการเรียนรู้ของหลักสูตร
                     1) ด้านคุณธรรม จริยธรรม
                     2) ด้านความรู้
                     3) ด้านทักษะทางปัญญา
                     4) ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลและความรับผิดชอบ
                     5) ด้านทักษะวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
                     6) ด้านทักษะการจัดการเรียนรู้
                2.7 ความร่วมมือกับหน่วยงานหรือสถาบันอื่น
                     1) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยรายภัฏสวนดุสิต เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557
                     2) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการในลักษณะเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ สถาบันพลศึกษาศรีสะเกษ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยกำหนดใช้หลักสูตรและแนวทางในการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตรับผิดชอบในการปรับปรุงหลักสูตรและแนวทางในการจัดการศึกษา ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ระดับปริญญาตรี และสอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนตามนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมทั้งให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในการจัดการศึกษาระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และสถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย
                     3) มหาวิทยาราชภัฏสวนดุสิตกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการบริหารโครงการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กับสถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายแต่ละสถาบัน โดยมีองค์ประกอบดังนี้
                          - บุคลากรที่ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จำนวน 3 คน
                          - บุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย จำนวน 3 คน
                          - เลขานุการ (บุคลากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต) จำนวน 1 คน
                          - ผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 2 คน
                          (บุคลากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต 1 คน และบุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย 1 คน)
                          ทั้งนี้ กำหนดให้บุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย 1 คน ทำหน้าที่ประธาน และให้บุคลากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต 1 คน ทำหน้าที่รองประธาน โดยกำหนดให้มีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง
               

ข้อมูลประกอบ

                สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้รับทราบการให้ความเห็นชอบหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2554) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มีหนังสือที่ ศธ. 0506(2)/14322 ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ถึงเลขาธิการ ก.พ. เรื่อง การรับรองปริญญา ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. ให้การรับรองปริญญาแล้ว รายละเอียดปรากฏตามหนังสือที่ นร. 1004.3/213 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2555 และหนังสือที่ นร. 1004.3/ว.11 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2556
               

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


           1. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ระดับปริญญาตรี พ.ศ.2548 และเรื่อง แนวทางการบริหารเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2548
           2. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552 และเรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์ และสาขาศึกษาศาสตร์ (หลักสูตร 5 ปี)
           3. ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ.2556
           4. ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง สาระความรู้และสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาตามาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ประกาศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549,ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 56ง 8มิถุนายน 2549,หน้า 289 – 305
           5. ประกาศคุรุสภา เรื่อง การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา เพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2557 ประกาศ ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2557

สำนักงานกลางโครงการความร่วมมือทางวิชาการ (รมป.)