เล่านิทานด้วยหุ่นมือ

สร้างโดย ศพด.กาบุ๊ (จังหวัดนราธิวาส)

ผู้จัดทำ นางฟารีด๊ะ แวเจ

ประเภทตัวชี้วัด : ผู้เรียนมีทักษะการคิด,ภาษา,การสังเกต,การจำแนก,การเปรียบเทียบและแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย



            เด็กเล็กๆมักชอบและให้ความสนใจกับการฟังนิทานเป็นอย่างมาก พวกเขาจะหยุดกิจกรรมทุกอย่างที่ทำอยู่ เมื่อถึงเวลาที่จะได้ฟังนิทาน แม้บางคนจะกำลังร้องไห้งอแง แต่เมื่อมีนิทานสีสวยๆมาอยู่ตรงหน้า ก็จะสามารถหยุดร้องได้ทันที การเล่านิทานจากในหนังสือ ด้วยน้ำเสียงสูงต่ำต่างๆ ทำให้นิทานนั้นน่าสนใจมากยิ่งขึ้น แต่คงดีไม่น้อยหากนิทานนั้นจะมีตัวละครสมมุติออกมาเล่นให้เด็กได้ดูด้วย นิทานหุ่นมือ เป็นนิทานที่เล่าเรื่องราวด้วยน้ำเสียงสูง ต่ำ เหมือนกับนิทานทั่วไป แต่พิเศษตรงที่ มีตุ๊กตาหุ่นมือที่สมมุติเป็นตัวละครต่างๆประกอบการเล่า เพื่อเพิ่มความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น หุ่น คือ ตัวละครที่มนุษย์สร้างขึ้น อาจมีรูปทรง 2 มิติ หรือ 3 มิติ ก็ได้ โดยมีบทบาทเป็นตัวแทนของคน สัตว์ สิ่งของ และความคิดต่างๆ ซึ่งเคลื่อนไหวและสื่อสารภายใต้ความพยายามของผู้เชิดหุ่น ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำครูผู้สอนเด็กระดับปฐมวัย ในการนำหุ่นมาใช้เป็นสื่อเพื่อจัดกิจกรรมสร้างเสริมพัฒนาการให้เด็กในด้านต่างๆ ประกอบกับการเรียนรู้ของเด็ก ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านสังคม โดยการให้เด็ก และครู ร่วมกันเชิดหุ่นกับเพื่อน ๆ การแบ่งหน้าที่ในการจัด การเชิดหุ่น จะทำให้เด็กรู้จักเรียนรู้ผู้อื่นและสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ซึ่งก่อให้เกิดความสามัคคี มีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและช่วยฝึกให้เด็กกล้าแสดงออก ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านอารมณ์ โดยเด็กจะได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ตนเองพร้อมกับการแสดงออกทางความคิด ความฝันจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีโอกาสแสดงจินตนาการเชิงสร้างสรรค์ ให้ปรากฏ การเชิดหุ่นจึงเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความนัยใจของตน โดยแสดงผ่านหุ่นเชิด ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางภาษา หุ่นสามารถส่งเสริมการใช้ภาษาของเด็กให้ดีขึ้น ด้วยการใช้หุ่นสร้างการเริ่มต้น “ประสบการณ์ทางภาษา” โดยใช้หุ่นเป็นตัวละคร ถือดินสอ คาบดินสอหรือส่งบัตรคำที่เตรียมไว้ นำมาติดบนบอร์ดกระดาษทราย แล้วใช้หุ่นเล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ออกคำสั่งให้ออกเสียงตามหุ่น เด็กก็จะได้รับความสนุกสนานผ่านการเรียนจากหุ่นมาก ใช้หุ่นเป็นสื่อในการสอนวิชาต่างๆ ได้หลายวิชา เช่น ศิลปะ คณิตศาสตร์ ร้องเพลง เกม ตลอดจนวิชาวิทยาศาสตร์ เช่น นำหุ่นมาตกแต่งเป็นต้นไม้ ดอกไม้ เกสร และผีเสื้อ แล้วแสดงการเรียนรู้เรื่อง ขบวนการผสมเกสรดอกไม้ จะทำให้การเรียนรู้นั้นสนุกสนาน เข้าใจง่าย พร้อมทั้งช่วยเปลี่ยนทัศนคติให้กับเด็กที่ไม่ชอบเรียนวิชาต่าง ๆ อีกให้ดีขึ้นด้วย

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=9179 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 9179