Healthy Yummy for Kids
สร้างโดย ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดบ้านตัวอย่าง (จังหวัดกระบี่)
ผู้จัดทำ นางสาวสุภารัตน์ ส่งศรี
ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษามีการจัดระบบประกันคุณภาพภายในศพด.อย่างต่อเนื่องตามระบบวงจร PDCA
หมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง ให้โปรตีน ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต เสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ ควรกินเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมสดวันละ 2-3 แก้ว และไข่วันละ 1 ฟอง หมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง น้ำตาล ให้คาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานแก่ร่างกาย ควรจัดให้เด็กกินทุกมื้อโดยเฉพาะมื้อเช้าเพราะแป้งจะย่อยสลายเป็นน้ำตาลกลูโคส ซึ่งเป็นอาหารสมองให้เด็กสามารถนำไปใช้ได้ทันทีหลังจากไม่ได้รับอาหารเป็นเวลานานตลอดทั้งคืน หมู่ที่ 3 พืชผักต่างๆ เป็นแหล่งวิตามินและเกลือแร่ รวมทั้งช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ควรจัดให้เด็กกินทุกมื้อ หลากหลายตามฤดูกาลเพื่อความประหยัดและได้วิตามิน แร่ธาตุครบถ้วน หมู่ที่ 4 ผลไม้ต่างๆ ให้ประโยชน์เช่นเดียวกับหมู่ที่ 3 หมู่ที่ 5 ไขมันและน้ำมันพืชและสัตว์ เป็นแหล่งพลังงานและช่วยให้วิตามินที่ละลายในน้ำมัน (วิตามิน เอ ดี อี และเค) ดูดซึมได้ดีขึ้น ควรเลือกไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว อาหารที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ช่วงทารก น้ำนมแม่จึงเป็นอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับเขา เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติช่วยต้านทานเชื้อโรคต่างๆ ทั้งยังสร้างความผูกพันระหว่างแม่และลูก หลัง 6 เดือนไปแล้วควรให้อาหารเสริมควบคู่กับนม ช่วงก่อนวัยเรียน คือ ช่วง 1-5 ปี เด็กจะมีการเจริญเติบโตทางสมองและร่างกายเป็นส่วนใหญ่ ควรให้กินอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มนมวันละ 2–3 แก้ว โดยเลือกนมที่มีส่วนผสมที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ที่กำลังสนใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ เช่น มีส่วนผสม DHA ช่วยเสริมพัฒนาการทางสมอง หรือมีส่วนผสมของสารที่ช่วยบำรุงสายตา อย่างลูทีน ที่พบในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และเพื่อการเจริญเติบโตที่สมวัย ควรให้กินปลา เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก และผลไม้เป็นประจำ ซึ่งถ้าได้รับสารอาหารครบถ้วน สมองก็จะเจริญเติบโตเต็มที่ ควรหลีกเลี่ยงของหวานขบเคี้ยวต่างๆ เด็กวัยเรียน หรือเด็กที่มีช่วงอายุ 6 – 12 ปี ซึ่งร่างกายกำลังเจริญเติบโตอย่างคงที่ ต้องได้รับอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม รับประทานให้ครบ 3 มื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้า เพราะการไม่รับประทานอาหารเช้าจะทำให้ร่างกายขาดพลังงานที่จะไปเรียนรู้และ ทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงอื่นๆ ของวัน อาจทำให้ขาดสมาธิในการเรียนรู้ และส่งผลต่อการเรียนที่แย่ลงได้ อาหารว่างระหว่างมื้ออาหารหลักก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก แต่ไม่ควรกินใกล้กับเวลามื้ออาหารหลัก อาหารว่างที่ดีควรมีพลังงานเหมาะสม ประมาณ 100 – 150 กิโลแคลอรี มีน้ำตาลน้อย ที่ อย่างเช่น ผลไม้สด โยเกิร์ต ธัญพืชต่างๆ นอกจากนี้ การดื่มนมก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กควรได้รับอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว ควร หลีกเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีรสจัด ของขบเคี้ยว น้ำอัดลม หากเด็กกินฟาสต์ฟู้ดเป็นอาหารกลางวัน มื้อเช้ากับมื้อเย็นก็ควรมีผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบ เพื่อให้ได้รับวิตามินและใยอาหารด้วย ซึ่งพ่อแม่จะต้องคอยให้ความรู้กับลูกๆ เกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พร้อมกับฝึกนิสัยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตาม อัตราการเจริญเติบโตของเด็กนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโภชนาการที่เด็กได้รับ และพื้นฐานทางพันธุกรรม
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=8625 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 8625