Play & Learn เพลินไปกับประกันคุณภาพการศึกษา
สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสระลุมพุก (จังหวัดกาญจนบุรี)
ผู้จัดทำ นางสาวอรวรรร เปรมนิ่ม
ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษาสามารถจัดการประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสําคัญ
การจัดการเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน (Play and Learn) คือ การจัดกิจกรรมให้กับเด็กปฐมวัยโดยยึดหลักจิตวิทยาและธรรมชาติของเด็กที่ชอบเล่นอยู่แล้ว ด้วยการใช้เทคนิควิธีการบูรณาการสาระความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ที่ต้องการให้เกิดกับเด็ก และการเล่นให้เข้าด้วยกัน ทำให้เด็กได้เล่น แสดงออก ได้ร้องเพลง ทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน อยากเรียนรู้มากขึ้น การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยมีความแตกต่างไปจากเด็กในวัยอื่น การจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย จึงเป็นกิจกรรมบูรณาการผ่านการเล่นที่หลากหลาย การเล่นเป็นกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน สนุกสนาน เป็นกิจกรรมที่ทำโดยไม่ต้องถูกบังคับ การเล่นเป็นกระ บวนการพัฒนาเด็กทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา กิจกรรมการเล่านิทาน เป็นกิจกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการ ความสนใจ และธรรมชาติของเด็กในระดับปฐมวัยได้ดี ถือเป็นหัวใจสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูและการให้การศึกษาแก่เด็กในวัยนี้ การเล่านิทานเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ตอบสนองต่อธรรมชาติของเด็ก การที่พ่อแม่ หรือครูเล่านิทานให้เด็กฟังทุกวันมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการเล่านิทานทำให้เด็กมีความสนุกสนาน เพลิดเพลินและผ่อนคลายอารมณ์แล้ว เนื้อหาในนิทานยังสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมที่ดีงามอันเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของเด็ก อีกทั้งยังช่วยเสริม สร้างพัฒนาการในด้านภาษาของเด็กได้อีกด้วย เด็กมักจะรบเร้า เรียกร้องให้ผู้ใหญ่เล่านิทานให้ฟังทุกวัน แม้ว่านิทานเรื่องนั้นเด็กจะเคยฟังมาแล้วกี่ครั้งก็ตาม เด็กบางคนอาจต้องการออกมาเล่านิทานให้เพื่อนๆฟัง หรือเด็กบางคนอาจต้องการแสดงบทบาทของตัวละครในนิทาน พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะและธรรมชาติของเด็กทุกคนที่ชอบฟังนิทาน ไม่ว่าจะเป็นเด็กในระดับใด การฟังนิทานนอกจากจะทำให้เด็กมีความสนุกสนาน และผ่อนคลายอารมณ์แล้ว นิทานยังช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะทางภาษา โดยเฉพาะทักษะการฟัง การพูด การกล้าแสดงออก การคิดและจินตนาการที่กว้างไกล รวมถึงการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้กับเด็กจากการฟังนิทานที่มีเนื้อหาสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมที่ดีงามจากการเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครในนิทานที่เด็กได้ฟัง เด็กจะมีความเชื่อ ศรัทธา และพร้อมที่จะปฏิบัติตนตามบทบาทของตัวละครนั้นๆ
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=6587 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 6587