การละเล่นพื้นบ้าน (Super Teacher)
สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนานปู (จังหวัดตรัง)
ผู้จัดทำ นางสาวอรญา ชูบาล
ประเภทตัวชี้วัด : ผู้เรียนมีสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรี และการเคลื่อนไหว
การละเล่นพื้นบ้าน เป็นกิจกรรมนันทนาการประเภทเกม ที่สามารถส่งเสริม พัฒนา อารมณ์สุข สนุกสนาน และเป็นกิจกรรมที่เน้นความสนุกสนานไม่เน้นการแพ้ชนะ จึงมีคุณค่าและมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมพฤติกรรมโดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ทั้งเป็นการเชื่อมโยงประสบการณ์ทางสังคมให้กับเด็ก ทำให้เด็กไทยประสบความสำเร็จในการเล่นจนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก รู้จักปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการรอคอย การช่วยเหลือ การแบ่งปัน และการเป็นผู้นำ ผู้ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นผลที่จะเกิดโดยตรงจากการละเล่นของเด็กที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตและพฤติกรรมทางสังคมของเด็กวัยนี้ ที่ต้องเสริมสร้างพัฒนาการให้พร้อมในการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การละเล่นเสือกินวัว เป็นการเล่นอย่างหนึ่งของเด็ก นิยมเล่นในสนามหรือลานที่โล่งแจ้ง การละเล่นเสือกินวัวเป็นการฝึกความว่องไวไหวพริบการหอกล่อและหลบหลีก การละเล่นตีล้อ การเล่นล้อวงกลม เดิมอาจจะใช้วงล้อไม้ไผ่กลมๆ จากขอบวงของใช้พื้นบ้าน เช่นตะกร้าใส่ยาสูบ กระด้ง กระบุง เป็นต้น เมื่อสิ่งของดังกล่าวผุพัง ขอบวงหรือวงกลมจากของใช้ยังแข็งแรงทนทาน เด็กๆ จะดึงเอาขอบวงนี้มาทำเป็นล้อวงกลมตีเล่นแข่งขันกัน แต่ด้วยวิธีการทำล้อวงกลมค่อนข้างง่าย การที่จะค่อยให้ของใช้พื้นบ้านพังเสียหายอาจจะทำให้ชักช้า ไม่ทันเวลาที่เล่น เด็กเล็กๆ จะให้ผู้ใหญ่ทำล้อวงกลมให้ ส่วนเด็กที่มีอายุและตัวโตแล้ว จะสามารถทำเองได้ การเล่นเดินกะลา เด็กรุ่นก่อนๆ จะชอบเล่นเดินกะลามาก เพราะกะลาหาง่าย มีอยู่ทั่วไป การเดินบนกะลานั้น ผู้ที่เริ่มฝึกจะรู้สึกเจ็บฝ่าเท้า เพราะความโค้งมนและความแข็งของกะลา แต่ถ้าได้ฝึกบ่อยๆ อาการเจ็บก็จะหายไป ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณเท้าแข็งแรงขึ้นและยังเป็นการนวดฝ่าเท้าไปในตัวด้วย นอกจากนี้ผู้เล่นจะฝึกในเรื่องของการทรงตัว ซึ่งจะทำให้เรียนรู้เรื่องของความสมดุล หรือ Balance ไปในตัวอีกด้วย คนที่รักษาสมดุลของร่างได้ดีก็จะทรงตัวได้ดีและมักจะถึงเส้นชัยก่อน นอกจากนี้ถ้าเล่นเดินจนเบื่อแล้วก็ยังสามารถเอามาเล่นเป็นโทรศัพท์พูดแล้วได้ยินเสียงกันได้เรียนรู้เรื่องของเสียงได้อีกด้วย
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=6461 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 6461