มาปลูกดอกไม้กันเถอะ

สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลศรีวิชัย (จังหวัดลำพูน)

ผู้จัดทำ นายกฤษฐฎา รัตนเมฆิณษ์

ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษามีการจัดสภาพแวดล้อมและการบริการที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ



            ชื่อกิจกรรม มาปลูกดอกไม้กันเถอะ วัตถุประสงค์ 1. จัดสภาพแวดล้อมที่ศูนยพัฒนาเด็กเล็กให้สวยงามด้วยการจัดพื้นที่สำหรับการปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ เพื่อให้เด็กได้ซึมซับเกี่ยวกับประโยชน์ของต้นไม้และธรรมชาติที่มีต่อการดำรงชีวิต เช่น ให้ความสดชื่นสวยงามสบายตา 2. เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้วย ให้เด็กได้มีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการปลูกดอกไม้ ตั้งแต่การเตรียมการปลูก ลงมือปลูกและการบำรุงดูแลรักษาให้ดอกไม้เจริญเติบโตจนกระทั่งออกดอกสวยงาม 3. ความรู้สึกรับผิดชอบและความภาคภูมิใจที่เกิดจากการได้ทำกิจกรรมการเพาะปลูกด้วยตนเอง จะนำไปสู่การรับรู้ถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ 4. ส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ พฤติกรรมการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ จากการที่เด็กได้ดูแลรักษาดอกไม้ให้มีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติ 5. ส่งเสริมพฤติกรรมการอนุรักษ์น้ำ จากพฤติกรรมที่เด็กปฐมวัยใช้น้ำอย่างประหยัดและทำให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมให้เด็กรับรู้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจในการสงวนรักษาสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้คงอยู่ตลอดไปหรือสงวนไว้ให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมีความรู้สึกที่ดีต่อธรรมชาติ ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงจนสามารถค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเอง กิจกรรมย่อย การจัดกิจกรรมการเพาะปลูกสามารถนำมาจัดให้เข้ากับหน่วยการเรียนรู้ในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ได้ หรืออาจจัดในรูปแบบของการสอนแบบโครงการก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามขั้นตอนการจัดกิจกรรมควรดำเนินตามลำดับดังนี้ ขั้นเตรียมกิจกรรม เด็กจะได้เรียนรู้สิ่งที่ครูเตรียมไว้ให้ ได้แก่ สถานที่สำหรับเพาะปลูก เตรียมดินสำหรับปลูก เตรียมวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ พันธุ์พืช เช่น เมล็ด หัว กิ่ง ใบ เครื่องปลูกในกรณีที่ปลูกลงในกระถาง เช่น ดิน ถั่ว แกลบ ใยมะพร้าว เปลือกถั่ว ขี้เลื่อย ฟางข้าว เปลือกไม้ เครื่องมือปลูก เช่น ตะกร้าเพาะเมล็ด พลั่ว จอบ เสียม อุปกรณ์รดน้ำ ปุ๋ยธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ขั้นดำเนินกิจกรรมขั้นนำ เด็กและครูร่วมกันสนทนาเรื่องประโยชน์ของต้นไม้ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม หรือการสนทนาเกี่ยวกับวิกฤติของป่าไม้ที่ถูกทำลายในปัจจุบัน เพื่อให้เด็กรู้สึกตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ต้นไม้และป่าไม้ นอกจากนี้ยังเป็นแนว ทางให้เด็กตัดสินใจว่าควรปลูกดอกไม้ประเภทไหน จึงจะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและได้ประโยชน์มากที่สุด ขั้นปฏิบัติ สนทนาถึงการเพาะปลูก และครูสาธิตการใช้เครื่องมือ วิธีการปลูกและวิธีการดูแลรักษา หลังจากนั้นเด็กลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่การปักชำ รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ขั้นประเมินผล ให้เด็กสังเกตการเจริญเติบโตของพืช เปรียบเทียบความสูง จำนวนต้น ปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของพืช เช่น น้ำ แสงแดด ปุ๋ย ใครมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบ้านอยู่ในชนบทจะมีพันธุ์ดอกไม้ต่างๆที่อยู่บริเวณบ้าน ก็ช่วยในเรื่องการเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับปลูกดอกไม้และมาให้ความรู้เบื้องต้นแก่เด็กนักเรียน ประโยชน์ที่เกิดกับเด็ก กิจกรรมการเพาะปลูกเป็นการจัดกิจกรรมที่ให้โอกาสเด็กทำงานด้วยตนเองในทุกกระบวนการเรียนรู้ที่จะเตรียมดิน การใช้เครื่องมือ การเพาะต้นกล้า การบำรุงดูแลรักษา ทำให้เด็กได้พบสิ่งที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ช่วยให้เด็กรู้จักพันธุ์ดอกไม้ต่างๆและการบำรุงรักษาดอกไม้ให้เจริญเติบโต เด็กจะได้เรียนรู้ว่าดอกชนิดใดต้องการน้ำ ปุ๋ย แสงแดดแตกต่างกันอย่างไร ดอกไม้ชนิดใดต้องการอยู่ในที่ร่มหรือดอกไม้ชนิดใดที่ต้องการแสงน้อย เป็นต้น เด็กได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในด้านต่างๆ เช่นทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตของดอกไม้ การเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของดอกไม้ที่ปลูก การวัดความสูงของต้นดอกไม้ที่ปลูก เป็นต้น ช่วยให้เด็กเกิดความซาบซึ้งในความงามของธรรมชาติ เช่น การปลูกดอกไม้ชนิดต่างๆ ส่งเสริมให้เด็กมีความมีวินัยด้านความรับผิดชอบ การที่เด็กได้ดูแลการเจริญเติบโตของดอกไม้จนกระทั่งสามารถดอกไม้ออกดอกสวยงาม จะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่เกิดจากความรับผิดชอบ เด็กจะได้เรียนรู้วิธีการขยายพันธุ์ดอกไม้ ซึ่งดอกไม้ที่เด็กนำมาปลูกอาจใช้วิธีการขยายพันธุ์แตกต่างกัน ดอกไม้บางชนิดขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด บางชนิดขยายพันธุ์ด้วยหัวหรือลำต้นหรือปักชำ

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=6052 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 6052