โครงการสานใยรักศิษย์-ลูก (โครงการเศรษฐกิจพอเพียง)

สร้างโดย บ้านหัวโกรก (จังหวัดกรุงเทพมหานคร)

ผู้จัดทำ นางสุทิศา อินยม

ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษามีความร่วมมือระหว่างบ้าน,ศาสนา,การศึกษา,ภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในชุมชน



            จากสภาพสังคมปัจจุบันในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจาก ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทําให้วัฒนธรรมต่างประเทศได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทย เด็กซึมซับแนวคิดและกระแสนิยมบางอย่างเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต ซึ่งบางอย่าง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ทําให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมาที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ทําให้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การสื่อสารที่ใช้ภาษาแสลง มีการดัดแปลงภาษาให้ผิดไปจากเดิม การเห็นแก่ตัว ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น รวมทั้งไม่สามารถทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นต้น นอกจากนี้ สถาบันครอบครัวก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ พ่อแม่ต้องไปทํางานหาเลี้ยงครอบครัว ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนดูแลใกล้ชิดลูก ทําให้เด็กๆเรียนรู้ชีวิตด้วยตนเองจากสังคมนอกบ้าน และอาจถูกชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผล กระทบทั้งต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ จากสภาพปัญหาที่กล่าวมานั้น การมีทักษะชีวิตที่ดีในการดำเนินชีวิตมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นขั้นพื้นฐานของบุคคลในการปรับตัวและเลือกทางเดินชีวิตที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถเผชิญปัญหาต่าง ๆที่อยู่รอบตัวในสภาพสังคมปัจจุบันและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยการฝึกฝนอบรม รวมทั้งการมีทักษะชีวิตด้านการสื่อสาร ที่ใช้คำพูดและท่าทางเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้อย่างเหมาะสมกับวัฒนธรรม และสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น การเล่าเรื่องราว การอธิบาย การแสดงความชื่นชม และการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น ซึ่งมนุษย์ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุด เพราะมนุษย์เป็นปัจจัยที่จะทำให้สังคมประสบความสำเร็จ ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพต้องพัฒนาทั้งด้านความรู้ ทักษะสังคมด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการมีเจตคติ ที่ดีไปพร้อม ๆกัน รวมทั้งมีความสามารถที่จะเผชิญอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถปรับตัวและมีพฤติกรรมไปในทางที่ถูกต้อง นอกจากนี้เด็กจะมีทักษะชีวิตและทักษะสังคมที่ดี และมีคุณภาพนั้น จะต้องได้รับความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา บ้านและชุมชนร่วมกันปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้กับเด็กได้เรียนรู้และพึ่งปฏิบัติเพื่อให้เด็กได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดีโดยการปฏิบัติตนที่คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อพร้อมรับต่อความเสี่ยงบนพื้นฐานของความรอบรู้ ความรอบคอบ ระมัดระวัง และมีคุณธรรม การใช้ความรู้อย่างถูกหลักวิชาการด้วยความรอบคอบและระมัดระวังควบคู่ไปกับการกระทำที่ไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความร่วมมือปรองดองกันในสังคมจะสร้างสายใยเชื่อมโยงคนในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมเข้าด้วยกันสร้างสรรค์พลังในทางบวกนำไปสู่ความสามัคคี การพัฒนาที่สมดุล มีความยั่งยืนและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ดังนั้นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเขาสมิงจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของทักษะชีวิตและทักษะสังคม ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้จัดทำโครงการสายใยรักศิษย์ - ลูก (สอนศิษย์และลูกใช้ชีวิตอย่างถูกหลัก พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง) ขึ้นเพื่อให้เด็กมีทักษะชีวิตด้านการสื่อสารที่ดี มีทักษะสังคมในการทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้อื่นได้เหมาะสมตามวัย ตลอดการมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา บ้านและชุมชนร่วมกันในการจัดกิจกรรม เพื่อให้เด็กเกิดทักษะชีวิต และทักษะสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=5906 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 5906