บทความ เรื่อง ทำไมต้องร่วมกันคิด ร่วมกันพัฒนาเด็ก กิจกรรม “ใบเตยสรรพคุณมากล้นจากธรรมชาติสู่ชุมชน”
สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบ้านแท่น (จังหวัดมหาสารคาม)
ผู้จัดทำ นางสาวธนพร เหนือคูเมือง
ประเภทตัวชี้วัด : ผู้เรียนมีทักษะการคิด,ภาษา,การสังเกต,การจำแนก,การเปรียบเทียบและแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย
เรื่อง ทำไมต้องร่วมกันคิด ร่วมกันพัฒนาเด็ก กิจกรรม “ใบเตยสรรพคุณมากล้นจากธรรมชาติสู่ชุมชน” นางสาวธนพร เหนือคูเมือง ความนำ ใบเตย (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Pandanus amaryllifolius) ใบเตยเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกกอเป็นพุ่มขนาดเล็ก ลำต้นเป็นข้อ มีรากค้ำช่วยพยุงลำต้นไว้ ลำต้นจะอยู่ใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยวสลับเวียนเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอด ลักษณะเป็นใบเรียวยาว ขอบใบเรียบมีผิวมัน ตรงกลางใบเว้าลึกเป็นแอ่ง มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอีกหลายชื่อ เช่น ส้มม่า (ระนอง) ส้มตะเลงเครง (ตาก) ส้มปู (แม่ฮ่องสอน) ส้มพอดีหรือผักเก็งเค็ง (ภาคเหนือ) กลิ่นหอมของใบเตยเกิดจากสารเคมีที่ชื่อ 2-acetyl-1-pyrroline ใบเตยสดจะมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีรสหวาน หอม และสีเขียวของใบเตยนั้นอุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์ ที่มีส่วนช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ การปลูกใบเตยต้องปลูกใกล้น้ำและค่อนข้างแฉะพอสมควร เพราะใบเตยชอบความชื้น และอยู่ในที่เย็นๆไม่ให้โดนแสงแดดมาก อาจจะปลูกตามร่องสวนหรือตามชายน้ำ ก่อนปลูกต้องเปิดน้ำเข้าแปลงประมาณ 1 ฝ่ามือ หรือประมาณ 15 เซนติเมตร จากนั้นเตรียมต้นพันธ์ใบเตยที่แข็งแรง ที่มีราก ปักลงในแปลง จากนั้นดูแลระบบถ่ายเทน้ำ ดูแลไม่ให้ต้นที่ปักดำลอยขึ้นมา ทิ้งไว้ 3 เดือน ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ สำหรับการตัดใบเตย ควรตัดใบเตยจากด้านล่างของลำต้นไล่ขึ้นไปด้านบน โดยให้เหลือส่วนที่เป็นใบและยอดแต่ละต้นประมาณ 15 ใบ และเว้นช่วงเวลาในการตัดใบแต่ละครั้งประมาณ 3 วัน สรรพคุณของใบเตย 1. ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ : โดยใช้ใบสด 1 กำมือ นำมาบดให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำแล้วนำไปต้มอาจใส่น้ำตาลเล็กน้อยเพื่อรสชาติที่ดี โดยดื่มครั้งละ 1 แก้ว จำทำให้ร่างกายสดชื่น และสามารถบำรุงหัวใจได้ดี 2. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ใบสด 3- 5 ใบ หั่นเป็นท่อนแล้วนำมาต้มดื่มแทนน้ำ ประมาณ 2-3 วัน หรืออาจดื่มสัปดาห์เว้นสัปดาห์ จะช่วยขับปัสสาวะและช่วยบำรุงธาตุ 3. น้ำใบเตย : นำใบเตยสดล้างให้สะอาด 1 กำมือต้มกับน้ำ 4-5 ลิตร จนน้ำออกสีเป็นสีเขียว ใส่น้ำตาลตามใจชอบ สามารถดื่มได้ทั้งร้อนละเย็น 4. สูตรควบคุมน้ำตาลในเลือด : นำใบเตย 32 ใบ และใบต้นสัก 9 ใบ ตากแดดแล้วนำมาชงเป็นชาดื่มอย่างน้อย 1 เดือนต่อเนื่อง หรือใช้รากเตยประมาณ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำ ดื่มเช้าเย็น อย่างน้อย 1เดือนต่อเนื่อง 5. ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจและบำรุงกำลัง : ใช้ใบสดผสมในอาหารรับประทาน จะทำให้อาหารมีรสเย็น ทำให้หัวใจชุ่มชื่น หรือนำใบสดมาคั้นเอาแต่น้ำรับประทานครั้งละ 2-4 ช้อนแกง 6. ขับปัสสาวะ : ใช้ต้นเตย 1 ต้น หรือใช้รากครึ่งกำมือ นำมาต้มน้ำดื่ม 7. รักษาโรคผิวหนัง และโรคหัด : นำใบเตยสดมาตำให้พอกบริเวรที่เป็น 8. ทรีทเม้นท์บำรุงหน้า : นำใบเตยสะล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆนำมาปั่นกับน้ำสะอาดจนละเอียด จะได้ครีมข้นเหนียม แล้วนำมาพอกหน้า ทิ้งไว้ 20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด 9. ใช้เป็นสีผสมอาหารหรือขนม หรือต้มกับข้าว จะได้กลิ่นอาหารที่น่ารับประทาน เนื่องจากคนในชุมชนบ้านแท่นนิยมปลูกใบเตยเพื่อใช้ประโยชน์ เพราะใบเตยมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ มีการนำใบเตยมาประกอบช่อดอกไม้เพื่อใช้ถวายพระ ใช้ดับกลิ่น ใช้แต่งกลิ่น ปรุงแต่งสี และการนำมาเป็นส่วนประกอบของขนมไทยหลากหลายชนิด เช่น การนำใบเตยมาปั่น กรองเอาน้ำสีเขียวของใบเตยมาเป็นสีผสมอาหารทำวุ้นกะทิใบเตย ที่ชาวชุมชนบ้านแท่นชอบรับประทานมากและสามรถทำไว้รับประทานเองได้ในครัวเรือน จากสรรพคุณของใบเตย ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบ้านแท่นจึงได้เห็นประโยชน์ของวัตถุดิบธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนที่มีอยู่ทุกบ้าน เพราะใบเตยสามารถนำมาปรุงแต่งสี ให้กลิ่นหอมตามแบบธรรมชาติและมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ จึงได้จัดกิจกรรมทำวุ้นกะทิใบเตย เป็นรูปแบบการจัดประสบการณ์เรียนรู้ ที่ครู ผู้ปกครอง และชุมชนได้มีส่วนร่วมในการวางแผนและส่งเสริมพัฒนาการเด็กผ่านกิจกรรมทำวุ้นกะทิใบเตย โดยมีผู้ปกครองของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาล นางอุลัยวัลย์ ผ่องสนาม จากชุมชนบ้านแท่น เป็นวิทยากรให้ความรู้และร่วมกันทำวุ้นกะทิใบเตย โดยนำรูปแบบแนวคิด ทฤษฏีของนักการศึกษาที่สอดคล้องกับการทำกิจกรรมมาประยุกต์ใช้ แนวคิดของมอนเตสซอรี (Montessori Method) แพทย์หญิงชาวอิตาลี ที่มีแนวคิดว่า การศึกษาในวัยเริ่มต้นไม่ควรเป็นการนำความรู้ไปบอก แต่ควรปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้ ค้นหาคำตอบ ความต้องการของตัวเองผ่านการสั่งสมประสบการณ์และการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ดังนั้นทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบ้านแท่นจึงจัดสภาพแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการใช้มือสัมผัสจับต้อง ด้วยการทำวุ้นกะทิใบเตยที่เด็ก ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง ด้วยกิจกรรมการทำวุ้นกะทิใบเตย โดยทำเป็นวุ้น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นวุ้นใสๆสีเขียวที่ได้จากใบเตยและมีกลิ่นของใบเตย ส่วนชั้นบนเป็นวุ้นสีขาวขุ่นที่มีกะทิเป็นส่วนผสม ซึ่งวุ้นแต่ละชั้นจะต้องแยกทำทีละครั้ง โดยครั้งแรกจะต้องทำชั้นล่างที่มีส่วนผสมของน้ำใบเตยก่อน พอหยอดวุ้นชั้นล่างใส่พิมพ์เรียบร้อยแล้วค่อยทำวุ้นชั้นบนต่อ บทสรุปของการทำกิจกรรม ด้านทักษะชีวิต 1. เด็กได้รับประสบการณ์ตรงจากการออกไปสำรวจแหล่งของวัตถุดิบใบเตยที่จะนำมาทำเป็นสีผสมวุ้นจากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน 2. เด็กได้เรียนรู้ขั้นตอนวิธีการทำวุ้นกะทิใบเตย และส่วนประสมที่จะนำมาทำเป็นวุ้นกะทิใบเตย 3. เด็กได้เรียนรู้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การนำใบเตยมาปั่น กรองเอาน้ำสีเขียวของใบเตยมาเป็นสีผสมอาหารทำวุ้นกะทิใบเตย 4. เด็กได้เรียนรู้ทักษะทางคณิตศาสตร์จากการนับใบเตย 5. เด็กได้เรียนรู้ทักษะทางภาษาและการสื่อสาร รู้จักการตั้งคำถามในสิ่งที่สงสัยขณะทำกิจกรรมนอกจากนี้เด็กยังได้พัฒนาทักษะการฟังและสามารถโต้ตอบทำความเข้าใจ ปฏิบัติตามในเรื่องที่ฟังได้ 6. เด็กมีพัฒนาทางด้านอารมณ์ มีความอดทนรอคอยที่จะหยอดวุ้นกะทิใบเตยแต่ละชั้น 7. เด็กได้รับการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ มีการประสานสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อมือและตาเวลาหยอดน้ำวุ้นลงพิมพ์โดยไม่ทำให้เลอะหรือไหลล้นออกจากพิมพ์ 8. เด็กเกิดความภาคภูมิใจ มีความมั่นใจเห็นคุณค่าของตัวเองเมื่อสามารถทำวุ้นกะทิใบเตยได้ ด้านทักษะทางสังคม 1. เด็กรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม 2. เด็กรู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ 3. เด็กรู้จักการวางแผนและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบโดยการแบ่งหยอดวุ้นคนละชั้น 4. เด็กรู้จักปฏิบัติตามข้อตกลงของในขณะที่รอให้วุ้นแข็งตัวโดยการไม่ไปจิ้มที่วุ้น การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษา บ้านและชุมชน การขอความร่วมมือในการเชิญผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงการลงพื้นที่สำรวจแหล่งเรียนรู้ในชุมชน สวนใบเตยของแม่อุลัยวัลย์ ผ่องสนาม และเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเด็กในการทำวุ้นกะทิใบเตย การปลูก การบำรุงรักษา ประโยชน์ และการตัดใบเตย เป็นที่พึงพอใจ ชุมชนให้การสนับสนุนละยินดีให้ความร่วมมือ อ้างอิง ใบเตยหอม.(12 มีนาคม 2016).เข้าถึงได้ที่htts://www.มีประโยชน์.com สมุนไพรหอมใบเตยสรรพคุณชั้นเยี่ยมจากธรรมชาติ.(2548). เข้าถึงได้ที่ htts://www.banbealthy.com บ้านขนมไทยวุ้นกะทิใบเตย.(2 กุมภาพันธ์ 2557). เข้าถึงได้ที่ htts://www.kaemwee.wordpress.com
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=5820 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 5820