บทความ กรณีศึกษา เรื่อง "ประเพณีโบราณ...เชื่อมตำนานบุญข้าวจี่"

สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่ม (จังหวัดมหาสารคาม)

ผู้จัดทำ นางพัชรา บุตรราช

ประเภทตัวชี้วัด : ผู้เรียนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน



            บทความ ทำไมจึงต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ…พัฒนาเด็ก กรณีศึกษา เรื่อง “ประเพณีโบราณ…เชื่อมตำนานบุญข้าวจี่” นางพัชรา บุตรราช ผู้เขียน บทนำ สังคมในภาคอีสานเป็นสังคมเกษตรกรรม อาชีพหลักของชาวอีสานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ซึ่งจัดว่าเป็นสังคมพึ่งตัวเอง ที่ต้องช่วยตัวเองในเกือบทุกด้านมาโดยตลอด ชาวอีสานส่วนใหญ่จึงต้องแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตในครอบครัว ในสังคมของตนตามมีตามเกิด เท่าที่ธรรมชาติในท้องถิ่นจะอำนวยให้ วิวัฒนาการหรือพัฒนาการทางชีวิตและสังคม จึงค่อนข้างเชื่องช้าอยู่มากพอสมควร การเก็บรักษาข้าวให้อยู่ในสภาพดี ที่พร้อมจะนำมาปรุงอาหาร และแลกเปลี่ยน จึงมีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงความอยู่รอดของชีวิตทุกคนในครอบครัว ฉะนั้นผลผลิตจากการทำนา ถือเป็นรายได้เศรษฐกิจหลักของครอบครัว ข้าวจึงเป็นสมบัติอันล้ำค่าแห่งชีวิตของชาวอีสาน ข้าว เป็นอาหารหลักของคนทั่วโลก ข้าวจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ยึดโยงผู้คนในสังคมเข้าด้วยกัน ข้าวนอกจากจะเป็นอาหารแล้ว ยังเกี่ยวเนื่องกับมิติด้านอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการทำกสิกรรมโดยตรง เช่น การสู่ขวัญแม่โพสพ พิธีแรกนา การเสี่ยงทายขอฝน เพื่อให้เห็นว่าข้าวและชาวนานั้นอยู่ในทุกมิติของสังคม รูปแบบของการดำเนินชีวิตของชาวอีสานส่วนใหญ่ ชอบบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ชอบใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อุปนิสัย เป็นคนขยัน อดทน และช่างคิด จึงรวมเอาวิถีชีวิตและภูมิปัญญามาใช้ในการแปรรูปข้าว เมื่อถึงช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จใหม่ ๆ และนำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสาร นำมานึ่ง โดยธรรมชาติ ข้าวใหม่จะมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ขณะนั่งผิงไฟเพื่อความอบอุ่นของร่างกาย ก็ได้นำเอาข้าวเหนียวนึ่งมาปั้น โรยเกลือ ทาด้วยไข่ไก่ นำมาย่างไฟจากเตาถ่านให้เหลืองเกรียม หอมน่ารับประทาน จึงได้เรียกอาหารชนิดใหม่นี้ว่า “ข้าวจี่” มูลเหตุแห่งการทำบุญข้าวจี่ เมื่อถึงเดือนสามเป็นเวลาที่ชาวบ้านหมดภาระจากการทำงาน จึงร่วมกันทำข้าวจี่ถวายพระสงฆ์ ตำนานการทำบุญข้าวจี่นั้นกระทำกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล วันหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปบิณฑบาตที่บ้านเศรษฐีปุณณ ขณะนั้นปุณณทาสี คนใช้ของเศรษฐีเจ้าของบ้านกำลังย่างข้าวเหนียว เพื่อรับประทานเอง ครั้นนางเห็นพระพุทธองค์ออกบิณฑบาต นางไม่มีปัจจัยสิ่งอื่นที่พอจะถวายได้ จึงเอาข้าวย่างก้อนนั้นใส่บาตรแก่พระพุทธองค์ เมื่อนางใส่บาตรไปแล้ว นางทาสีมีจิตพะวงว่าพระพุทธองค์ จะไม่เสวย เพราะภัตตาหารที่นางถวายไม่ประณีต ข้าวย่างหรือข้าวจี่นั้นเป็นอาหารของชาวบ้านที่ค่อนข้าง จะยากจนพระพุทธองค์ทราบวาระจิตของนางจึงรับสั่งให้พระอานนท์ ปูอาสนะลงตรงนั้น ให้ศีลและฉันภัตตาหารของนาง เมื่อฉันเสร็จแล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดนาง ทำให้นางปลื้มปิติและตั้งใจฟังธรรมจนบรรลุโสดาปัตติผล ครั้นนางตายไปได้เกิดบนสวรรค์ และด้วยอานิสงส์ของการให้ทานข้าวจี่ก้อนนั้น ดังนั้น ชาวอีสานจึงมีความเชื่อว่าหากทำบุญด้วยข้าวจี่ จะได้ผลบุญมากหลาย เช่นเดียวกันกับนางปุณณทาสี การให้ทานด้วยข้าวจี่นั้น เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ความยากจนไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ข้าวจี่ เป็นอาหารพื้นบ้านของภาคอีสาน นิยมทำรับประทานในฤดูหนาว ทำจากข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อน แล้วเอาเกลือโรยเพื่อให้ได้รสกลมกล่อม แล้วนำข้าวเหนียวนั้นมาปั้นเป็นก้อนให้แน่น วิธีปั้นข้าวเหนียวนั้นปั้นด้วยมือ จะปั้นให้เป็นรูปยาวรีหรือกลมก็ได้ เมื่อปั้นข้าวเหนียวเสร็จแล้ว ใช้ไม้ไผ่ที่เหลาไว้แล้วเสียบก้อนข้าวแล้วนำไปย่างไฟ ในขณะที่ย่าง ก็ต้องคอยหมุนให้ข้าวสุกสม่ำเสมอทุกด้าน เมื่อข้าวจวน จะสุกก็ทาไข่ให้ทั่วก้อนข้าว หลังจากทาไข่แล้วต้องคอยหมุนไม้ย่างข้าวให้สุก เมื่อย่างข้าวสุกดีแล้ว บางคน จะดึงข้าวจี่ออกจากไม้ ทำให้ข้าวจี่มีรอยไม้เสียบอยู่ตรงกลาง ตรงรอยไม้เสียบจะเอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลก้อน ใส่เข้าไปก็ได้ เสร็จแล้วนำข้าวจี่ใส่จานไปตักบาตรหรือนำไปถวายพระ บุญข้าวจี่ไม่ได้เป็นการทำบุญที่ใหญ่ โตนัก แต่บุญข้าวจี่ก็มีจุดเด่นที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวอีสานในชนบทและมีความเชื่อว่าหากทำบุญด้วยข้าวจี่จะได้รับผลบุญมากมาย “บุญข้าวจี่” เป็นงานประเพณีของหลายชุมชนหลายหมู่บ้านในภาคอีสาน ที่ถือปฏิบัติและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น กระทำกันในเดือนสาม จนเรียกว่า บุญเดือนสาม บุญข้าวจี่เป็นบุญประเพณีที่มีกำหนดอยู่ใน ฮีตสิบสอง นิยมกระทำกันในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนสาม คือ ภายหลังจากการทำบุญวันมาฆบูชา (เดือนสาม ขึ้น 15 ค่ำ) ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรด้วยข้าวจี่ในตอนเช้า ตอนค่ำจะมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ ซึ่งการทำบุญข้าวจี่นี้ ชาวบ้านอาจจะไปรวมกันที่วัดหรือต่างคนต่างจัดเตรียมข้าวจี่ไปเอง แล้วนำไปถวายพระภิกษุสามเณรที่วัด มีการไหว้พระรับศีล พระสงฆ์ สวดพระพุทธมนต์และตักบาตรด้วยข้าวจี่ แล้วยกไปถวายพร้อมภัตตาหารอื่น ๆ เมื่อพระฉันเสร็จก็มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวจี่และรับพร ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่ม ได้จัดกิจกรรม “ข้าวจี่ปั้นนี้…ฝีมือหนูเอง” เป็นแนวคิดทฤษฎีของ จอห์น ดิวอี้ เป็นการเรียนรู้จากการกระทำในสถานการณ์จริง เน้นการปฏิบัติจริง เป็นการจัดกิจกรรม ในลักษณะกลุ่มปฏิบัติการที่เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการกระทำ ฝึกคิด ฝึกลงมือทำ ฝึกทักษะกระบวนการต่าง ๆ ฝึกการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และฝึกทักษะการเสาะแสวงหาความรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของ ข้าวเหนียว การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแปรรูปและประกอบอาหารง่าย ๆ จากข้าว การเรียนรู้ การลงมือทำและได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ได้รับประสบการณ์ตรงและสามารถนำกลับไปทำอาหารในชีวิตประจำวันได้ สำหรับวัตถุประสงค์หลักของ เพื่อสืบสานงานประเพณี “บุญข้าวจี่” ของชาวอีสานและอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม เป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และส่งเสริมให้เด็กศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านทุ่มร่วมกิจกรรมในชุมชน หลังเสร็จสิ้นจากทำกิจกรรม “ข้าวจี่ปั้นนี้…ฝีมือหนูเอง” พบว่าเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่ม ได้มีความรู้เรื่องข้าว รู้คุณค่าและความสำคัญของข้าว มีทักษะ และกระบวนการเรียนรู้จากการทำกิจกรรม ได้รู้จักอุปกรณ์ ส่วนประกอบ ขั้นตอนการทำข้าวจี่ และในขั้นตอนของการหมุนไม้ที่เสียบข้าว เด็กได้รับ การพัฒนาของกล้ามเนื้อนิ้วมือให้ประสานสัมพันธ์กับตา การใช้กล้ามเนื้อเล็กในการขยับมือ ฝึกทักษะ การสังเกตการเปรียบเทียบข้าวก่อนและหลังการทำข้าวจี่ ว่ามีความแตกต่างอย่างไร การที่เด็กสามารถ นำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต รู้วิถีการดำรงชีวิต เป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ส่งเสริมให้เด็กได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาในการแปรรูปอาหารแบบง่าย ๆ เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของภาคอีสานที่เรียกว่า “บุญข้าวจี่” การเข้าร่วมกิจกรรม “ข้าวจี่ปั้นนี้…ฝีมือหนูเอง” ของเด็กศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่ม ได้รับพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ได้ใช้กล้ามเนื้อเล็กและกล้ามเนื้อใหญ่อย่างคล่องแคล่วในการทำกิจกรรม ด้านอารมณ์และจิตใจ มีความภาคภูมิใจ ในผลงาน กล้าพูดสื่อสาร กล้าแสดงออก มีความมั่นใจ ในตนเอง ด้านสังคม ได้ร่วมมือกันทำงานกลุ่ม ติดต่อสื่อสาร ช่วยเหลือแบ่งปันกัน ด้านสติปัญญา ได้เรียนรู้ด้วยการสืบเสาะอย่างลึกซึ่ง ด้วยวิธีการที่หลายหลาย ค้นพบองค์ความรู้ ด้วยตนเอง สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ บทสรุป บุญข้าวจี่ หรือ งานประเพณีบุญเดือน 3 ในฮีต 12 คอง 14 เป็นจารีตที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ของชาวอีสาน ถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีของคน ในชุมชน สะท้อนให้เห็นถึง ความเลื่อมใส ศรัทธา โดยคนในชุมชนจะนัดหมายกันทำข้าวจี่ เพื่อนำไป ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า แต่ละครอบครัวจะต้องทำข้าวจี่เอง สิ่งสำคัญก็คือเราควรให้ลูกหลานได้มีส่วนร่วมในการทำข้าวจี่ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสอนให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้ลงมือทำจริงด้วยตนเอง ได้รู้จักขั้นตอน อุปกรณ์ ส่วนประกอบและวิธีจี่ข้าวจี่ เพื่อเป็นการปลูกฝัง และเรียนรู้เรื่องประเพณี ส่วนใหญ่ชาวอีสานชอบไปทำบุญกันทั้งครอบครัว เป็นการร่วมกิจกรรมและเติมความสัมพันธ์ ของสมาชิกในครอบครัวให้แน่นแฟ้น การได้ร่วมทำบุญข้าวจี่ที่วัด ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคน ในครอบครัวกับชุมชน เพราะทำให้ได้มีส่วนร่วมกับชุมชนในการเรียนรู้วัฒนธรรมงานบุญประเพณี และยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม อนุรักษ์ สืบสาน ประเพณีวัฒนธรรมให้กับลูกหลานด้วย ผู้เขียนเป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบรับประทานข้าวจี่มากในฤดูหนาว แต่ด้วยความที่อยากจะรับประทาน แบบที่ไม่ต้องใช้เวลานาน ๆ เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว เลยใช้วิธีการทอด แทนการจี่จากเตาถ่าน สูตรนี้ต่างกันที่เปลี่ยนจากการจี่ เป็นการทอดแทนเท่านั้นเอง อยากให้ท่านได้ลองทำรับประทานดู จะทำให้ รู้ว่ารสชาดของความอร่อยของข้าวทอด ไม่แพ้ ข้าวจี่ เลยก็ว่าได้ ด้านทักษะชีวิต เด็กได้รับประสบการณ์จากการร่วมกิจกรรม “ข้าวจี่ปั้นนี้…ฝีมือหนูเอง” คือ ได้มีความรู้เรื่องข้าว รู้คุณค่าและความสำคัญของข้าว รู้จักขนบธรรมเนียม ประเพณีบุญข้าวจี่ จากการทำงานเป็นกลุ่มร่วมกับ เพื่อน ๆ สามารถสร้างวินัย ความรับผิดชอบและความอดทนให้กับเด็ก และเด็กสามารถควบคุมพฤติกรรมควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ คิดวิเคราะห์กระบวนการตัดสินใจและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ความรู้ที่ได้ จากกระบวนการต่าง ๆ ของการทำข้าวจี่ เด็กสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และสามารถถ่ายทอดให้กับคนในครอบครัวได้ เด็กได้เรียนรู้การพึ่งตนเองและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ด้านทักษะทางสังคม ระหว่างที่เด็กทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนในห้อง เด็กได้ร่วมมือกันทำงานกลุ่ม ติดต่อสื่อสาร ช่วยเหลือแบ่งปันกัน เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น การยอมรับความสามารถของเพื่อน เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อนในกลุ่ม เมื่อเด็กได้ร่วมทำบุญในประเพณีบุญข้าวจี่กับครอบครัวที่วัด ถือว่าเด็กได้แสดงออกถึงการมีส่วนร่วม ในชุมชน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของประเพณีของบุญข้าวจี่ของท้องถิ่น เด็กรู้จักปรับตัว ควบคุมพฤติกรรม และอารมณ์ของตนเองเมื่ออยู่ร่วมกับชุมชน การได้ทำหน้าที่เป็นผู้ที่เลื่อมใสและศรัทธาในขนบธรรมเนียมประเพณีกับชุมชน แสดงให้เห็นถึงการทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ด้านการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษา บ้าน และชุมชน ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับสถานศึกษา คือ การที่นักเรียนได้เอากระบวนการที่ได้เรียนรู้ จากการทำกิจกรรมไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันที่บ้าน อาจไม่ใช้ความสัมพันธ์โดยทางตรงแต่ยังจัดว่า เป็นความสัมพันธ์ทางอ้อมได้เช่นกัน พ่อแม่ ผู้ปกครองพาเด็ก ๆ ไปร่วมทำบุญข้าวจี่ที่วัด เป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็ก และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับชุมชน เอกสารอ้างอิง กาญจนา แก้วเทพ. สื่อส่องวัฒนธรรม .กรุงเทพฯ : ห.จ.ก. เค.ซี พริ้นท์ แอนด์ แอด ,2541 บุญศรี เปรียญ (เจิม). ประเพณีอีสาน.,สำนักงาน ส.ธรรมภักดี.2550 สารานุกรมภูมิปัญญาท้องถิ่น – ภูมิปัญญาข้าวไทย จัดทำโดย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สวิง บุญเจิม .มรดกอีสาน.,มรดกอีสาน., สำนักพิมพ์มรดกอีสาน .2551

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=5819 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 5819