แหล่งเรียนรู้นอกศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
สร้างโดย บ้านสร้างฟาก (จังหวัดมหาสารคาม)
ผู้จัดทำ นางสาวจันทิมาภรณ์ สมคำ
ประเภทตัวชี้วัด : ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์
ตั้งแต่ อดีตโบราณกาล คงไม่มีใครปฏิเสธว่า "วัด" เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน เป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่ง หลากหลายกิจกรรมอยู่ที่วัด แม้แต่เรื่องของการศึกษาเล่าเรียน จนเป็นที่มาของคำว่า บวชเรียน แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่า "วัด" กลับมีบทบาทต่อชุมชนลดน้อยลง เหลือเพียงแค่ภาพของการเป็นสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานศพ หรืองานในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ส่วนภาพในบทบาทอื่นๆ ดูจะเลือนรางและนึกยากขึ้นทุกที ใน อดีต ชาวบ้านมีความใกล้ชิดกับพระและวัด ทำให้ได้มีโอกาสซึมซับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระผู้ทรงศีล แต่ในสังคมปัจจุบัน ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการจราจรที่แออัด ช่วงเวลาที่ไม่เอื้ออำนวย ฯลฯ ทำให้การเข้าวัดของคนไทย กลายเป็นเรื่องยาก บางครั้งการเข้าวัดแต่ละครั้ง ต้องมีการวางแผน ใช่ว่านึกอยากจะเข้าก็เดินเข้าไปได้ทันทีเหมือนก่อน แม้บางวัดพยายามรณรงค์ให้คนเข้าวัด ถึงกับมีการเปิดให้เข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ในวัดช่วงเย็นหรือค่ำหลังเลิกงาน แต่คนส่วนหนึ่งก็ยังลำบากที่จะเข้าวัดอยู่ดี คำกล่าวที่ว่า วัด บ้าน โรงเรียน ซึ่งเคยได้ยินกันคุ้นหูมีมาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นคำที่มีนัยสำคัญของคำแต่ละคำ หากจะแยกออกเป็นส่วน ๆ ก็จะเป็นคำที่มีความหมายเฉพาะของแต่ละบริบท วัด ในอดีตถือเป็นสถานที่บ่มเพาะ ฝึกปรือ ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้คนมีคู่กับสังคมไทยมาก่อนที่จะมีการสร้างโรงเรียนในชุมชน ถือว่าวัดเป็นสถานที่ฝึกอบรม และจะเห็นว่าชายที่จะแต่งงานออกเรือนจะต้องบวชก่อน หรือชายไทยที่มีอายุ 20 ปีจะต้องบวช บางคนก็บวชเรียน ดังนั้นความเกี่ยวเนื่องผูกพันกันระหว่างวัดกับชุมชน หรือบ้านก็ดำเนินมาช้านาน และเมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนในชุมชน ความผูกพันระหว่างวัด บ้าน และโรงเรียนก็เป็นความผูกพันที่เอื้ออาทรต่อกันและกันเสมอมา โดยเฉพาะโรงเรียนระดับประถมศึกษากับประชาชน ในอดีตโรงเรียนประถมศึกษา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรงเรียนประชาบาล ซึ่งในพระราชบัญญัติการประถมศึกษา พุทธศักราช 2478 ให้นิยามโรงเรียนประชาบาล หมายถึง โรงเรียนประถมศึกษาที่ประชาชนในตำบลหนึ่ง หรือหลายตำบลจัดตั้ง และดำรงด้วยทรัพย์สินของตนเอง คำนิยามนี้เองได้บ่งชี้ให้เห็นว่าชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การจัดตั้งรวมทั้งการระดมทรัพย์สินเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของเป็นผู้ทำนุบำรุงรักษา จนในปัจจุบันบทบาทดังกล่าวยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อมีการกำหนดในมาตรฐานการศึกษาที่เป็นมาตรฐานการศึกษาของกระทรวงศึกษา และมาตรฐานการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประกันคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ได้ระบุมาตรฐาน และตัวบ่งชี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์โรงเรียน กับชุมชนไว้อย่างชัดเจน วัด โรงเรียน ชุมชน จะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ากฎหมาย หรือนักวิชาการทางการศึกษาจะให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กรเอกชน ฯลฯ แต่มุมมองในทางปฏิบัติแล้วก็คงปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าการมีส่วนร่วมนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=5794 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 5794