ภาษา
สร้างโดย ทต.บรบือ (จังหวัดมหาสารคาม)
ผู้จัดทำ นางฉันทนา วานิช
ประเภทตัวชี้วัด : ผู้เรียนมีทักษะการคิด,ภาษา,การสังเกต,การจำแนก,การเปรียบเทียบและแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย
? เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ เด็กมีโอกาสเลือกกิจกรรมปฏิบัติอย่างอิสระ ครูเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ และร่วมมือจัดการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างเด็กกับครู ตั้งแต่วางแผนการเรียนว่า จะทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ใช้อุปกรณ์อะไรและใครร่วมรับผิดชอบบ้าง คำนึงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับสังคม เพราะเด็กจะต้องอยู่ในสังคม ห้องเรียนเป็นสังคมหนึ่ง ที่ครูสร้างความรู้สึกที่ดีให้เด็กอยู่ในกลุ่มเพื่อนอย่างมีความสุข โดยไม่มีกลุ่มเด็กเรียนเก่ง เรียนอ่อนในห้องเรียน สนับสนุนให้เด็กใช้ภาษาแบบองค์รวมเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเด็กจะได้ ฟัง พูด อ่านเขียน เพื่อสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีจุดมุ่งหมาย มิใช่การทำแบบฝึกหัดและแยกสอนทักษะภาษา เด็กเรียนรู้ภาษาจากการเลียนแบบ ดังนั้น ครู พ่อแม่ และทุกคนที่อยู่รอบตัวเด็กจึงมีความหมายต่อการเรียนรู้ภาษาของเด็ก เด็กจะเห็นผู้ใหญ่ใช้ภาษาหลายจุดมุ่งหมาย หลายวิธีการ เพราะเป็นเครื่องมือสื่อสารของคนเรา เช่น ฟังเพลงเพื่อความบันเทิง หรือฟังบรรยายเพื่อเก็บความรู้ การอ่านเพื่อเพลินเพลิด หรือการอ่านเพื่อเก็บความรู้ เป็นต้น ผู้ใหญ่เป็นนักอ่านที่ดีให้เด็กเห็นเป็นแบบอย่าง และผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ให้เด็กมีโอกาสซึมซับภาษา (immersion) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ภาษา เชื่อว่าเด็กทุกคนเรียนรู้ภาษาได้ โดยครูทราบเช่นกันว่า เด็กเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติเป็นอย่างไร เด็กสามารถเกิดประสบการณ์ทางภาษาได้ตลอดเวลาในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ดังนั้น การที่เด็กมาโรงเรียน เขาได้รู้ ได้เห็นสัญลักษณ์ทางภาษารอบตัว เช่น ป้ายทะเบียนรถ ป้ายชื่อร้านค้า เครื่องหมายจราจร เป็นต้น เด็กได้ยิน ได้ฟัง ได้สนทนาโต้ตอบ เป็นการใช้ภาษา เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีภาษาหรือตัวหนังสือ ในห้องเรียนจะมีหนังสือสำหรับเด็กอย่างเพียงพอกับจำนวนเด็ก มีมุมอ่าน มุมเขียน มุมห้องสมุด มีป้ายประกาศต่างๆ ที่ทำให้เด็กคุ้นเคยกับภาษา เช่น ป้ายชื่อ ป้ายติดผลงาน ป้ายข่าวและเหตุการณ์ มีมุมหุ่น มุมนิทานให้เด็กได้ใช้ภาษาพูด เล่าเรื่องราว เป็นต้น เด็กได้เรียนภาษาอย่างมีความสุข โดยครูจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจ มีความสนุกสนาน เนื้อหาที่เรียนมีอยู่จริงในชีวิตประจำวัน เด็กได้รับการสนับสนุนจากครูและพ่อแม่ให้อ่านหนังสือ โดยโรงเรียนมีหนังสือให้เด็กยืมกลับบ้านไปอ่าน ครูจัดหาหนังสือเพิ่มเติมให้เด็กเสมอ อาจจะหมุนเวียน เปลี่ยนสลับระหว่างห้องเรียน และได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองจัดหามาให้ยืม
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=5432 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 5432