การจัดประสบการณ์เด็กปฐมวัย

สร้างโดย ศพด.โรงเรียนวัดตันทาราม (จังหวัดนครนายก)

ผู้จัดทำ นางสาวรุ่งอรุณ จันทร์แก้ว

ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษาสามารถจัดการประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสําคัญ



             แนวทางการจัดประสบการณ์ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๔๖ กำหนดให้จัดประสบการณ์ในรูปแบบบูรณาการทั้งทักษะและสาระการเรียนรู้ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการเรียนรู้, 2546: 40) คำว่า "บูรณาการ" จึงเป็นคำที่คุ้นเคยสำหรับครู แต่อาจเกิดความเข้าใจที่สับสนว่าการบูรณาการเป็นการนำองค์ความรู้ต่างๆ มากองรวมกัน โดยทึกทักเหมารวมเอาไว้ด้วยกันอย่างไม่สามารถแยกแยะอะไรได้ และอ้างว่าให้เด็กทำกิจกรรม ทั้งๆ ที่ครูก็ไม่ชัดเจนว่าผสมผสานอะไรไว้ด้วยกัน การจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัยยึดหลักการบูรณาการที่ว่า หนึ่งแนวคิดเด็กสามารถเรียนรู้ได้หลายกิจกรรม หนึ่งกิจกรรมสามารถเรียนรู้ได้หลายทักษะและหลายประสบการณ์สำคัญ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2547: 6) การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัย ครูจึงควรศึกษาก่อนว่าทักษะ สาระการเรียนรู้ หรือประสบการณ์สำคัญใดที่จะจัดให้กับเด็ก แล้วจึงวางแผนการจัดกิจกรรมต่อไป การจัดประสบการณ์ในระดับปฐมวัย ได้แก่ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง และกิจกรรมเกมการศึกษา ดังตัวอย่างต่อไปนี้ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ เด็กๆ ได้ร้องเพลง คิดท่าประกอบเพลง ทำท่าประกอบเพลง ซึ่งเพลงที่นำมาใช้ประกอบ ด้วยเพลงเหาะไปบนฟ้า และเพลงปีเตอร์แพน ได้แปลงร่างเป็นตัวละครต่างๆ ในเรื่องปีเตอร์แพน และเคลื่อนไหวประกอบจังหวะตามลักษณะสำคัญของตัวละคร และได้ทำกิจกรรมตามผู้นำ (ผู้นำ ผู้ตาม) โดยดัดแปลงมาจากตอนที่ตัวละครในเรื่องออกไปตามพวกอินเดียนแดง ฯลฯ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เด็กๆ ได้เล่นสมมติจากสถานการณ์ในเรื่อง เช่น ตอนทิงเกอร์เบลอิจฉาเวนดี้ เพื่อนำไปสู่การอภิปรายเรื่องการจัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสม หรือตอนเวนดี้ไม่ยอมเป็นพวกโจรสลัด เพื่อนำไปสู่การอภิปรายเรื่องการปฏิเสธที่จะทำผิดตามที่ผู้อื่นสั่งให้ทำ ได้เล่นสมมติเป็นอินเดียนแดงทดลองทำสิ่งต่างๆ ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องความสามัคคี นอกจากนี้ยังมีการเล่นละครสร้างสรรค์ 5 ฉากสำคัญ คือ เหาะไปบนฟ้า ตามผู้นำ ช่วยไทเกอร์ลิลลี่ ที่ซ่อนของปีเตอร์แพน และกลับบ้านกันโดยเด็กๆ จะต้องแบ่งหน้าที่กันทำ ด้นสดบทละคร และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ฯลฯ กิจกรรมสร้างสรรค์ เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมที่ให้เด็กเลือกทำเป็นรายบุคคล ได้แก่ พับหมวกปีเตอร์แพน ดัดลวดเพื่อทำปีกทิงเกอร์เบล วาดนางเงือก และตัดเพื่อนำไปไว้ที่ทะเลสาบนางเงือก พับจระเข้ตัวเล็ก ตัดรูปมือระบายสีเพื่อทำสายรุ้ง ตัดรูปดาวและปั๊มสีเพื่อทำดาวที่ลอนดอนยามค่ำคืน และทำสายคาดศีรษะของอินเดียนแดง ฯลฯ และได้ทำกิจกรรมศิลปะแบบร่วมมือ ได้แก่ การสร้างเนเวอร์แลนด์ซึ่งต้องทำดวงอาทิตย์ ก้อนเมฆ เรือโจรสลัด หินรูปหัวกะโหลก จระเข้ตัวใหญ่ และการสร้างลอนดอนซึ่งต้องทำภาพเมืองลอนดอนและหอนาฬิกา ฯลฯ กิจกรรมเสรี เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องแสงและเงาผ่านการทำกิจกรรมวาดเงาของตัวละคร เรียนรู้ประโยชน์ของแสงจากการส่องไฟฉายหาตัวละครในกล่องปริศนา ได้เรียนรู้เรื่องเสียงผ่านการทำกลองของอินเดียนแดง ได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของสสารผ่านการทำแพนเค้กรูปหน้าตัวละคร ได้เรียนรู้ภาษาผ่านตัวอักษรล่องหนของอินเดียนแดง ฯลฯ โดยครูจัดกิจกรรมเหล่านี้ตามความคิดของเด็กไว้เป็นตัวเลือกหนึ่งในกิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง เด็กๆ ได้เล่นเดินเป็นแถวตามจังหวะมาร์ช โดยร้องเพลงตามผู้นำไปในที่ต่างๆ ในโรงเรียน โดยเล่นสมมติเป็นพวกอินเดียนแดง เด็กๆ เล่นเครื่องเล่นสนามโดยสมมติว่าเครื่องเล่นแต่ละอย่างเป็นสถานที่ต่างๆ ในเรื่องปีเตอร์แพน ฯลฯ กิจกรรมเกมการศึกษา เด็กๆ ได้เล่นเกมจับคู่คำศัพท์ทั้งคำศัพท์เกี่ยวกับฉาก และตัวละคร ในหลายๆ ลักษณะ เช่น ทอยลูกเต๋าแล้วหาบัตรคำศัพท์ นำบัตรคำศัพท์ไปวางคู่กับสิ่งของจริงๆ ที่เด็กสร้างขึ้นในห้องเรียน รวมทั้งเกมอื่นๆ เช่น ลากเส้นหาทางออกให้ทิงเกอร์เบล ฯลฯ

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=5318 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 5318