กิจกรรมเสริมประสบการณ์เรื่องธรรมชาติรอบตัว(การทำม้าก้านกล้วย)
สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยชัน (จังหวัดสระแก้ว)
ผู้จัดทำ นางทิพวรรณ ลีสี
ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษาสามารถจัดการประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสําคัญ
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยชัน สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว จัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ เรื่อง ธรรมชาติรอบตัว (การทำม้าก้านกล้วย) กิจกรรมการทำม้าก้านกล้วยเป็นกิจกรรมที่ใช้สื่อจากธรรมชาติ คือก้านกล้วยมาเป็นของเล่นตามความคิด จินตนาการของเด็ก ทั้งยังส่งเสริมให้เด็กเกิดความคิดที่แปลกใหม่อย่างหลากหลาย ซึ่งจะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ตามวัยและวุฒิภาวะของเด็ก วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำม้าก้านกล้วย มีดังนี้ 1.ก้านกล้วย 2.ไม้เสียบลูกชิ้น 3.มีด 4.เชือกฟาง 5.กรรไกร เริ่มกิจกรรมครูพาเด็กๆไปดูต้นกล้วยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านห้วยชันซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อให้เด็กได้รู้จักส่วนประกอบและประโยชน์ของต้นกล้วย ขั้นตอนการทำกิจกรรมมีดังนี้ 1.ครูแนะนำให้เด็กรู้จักวัสดุอุปกรณ์การทำม้าก้านกล้วยและวิธีการทำ 2.ครูและเด็กสร้างข้อตกลงร่วมกันในการปฏิบัติกิจกรรมการเล่นม้าก้านกล้วย 3.ครูสาธิตวิธีการทำม้าก้านกล้วย ดังนี้ ขั้นตอนการทำม้าก้านกล้วย เมื่อเลือกก้านกล้วยที่มีความยาวพอเหมาะ ก็จะตัดก้านกล้วยมา เอามีดเลาะเอาใบกล้วยออก เหลือไว้ที่ปลายใบเล็กน้อยเพื่อให้เป็นหางม้า ที่ก้านด้านโคนจะมีขนาดใหญ่เกือบเท่าข้อมือของเด็กๆ กะความยาวประมาณหนึ่งคืบ หรือสองคืบ แล้วเอามีดฝานแฉลบด้านข้างของก้านตรงที่กะไว้ฝานบางๆไปทางด้านโคนทั้งสองข้างเพื่อให้เป็นหูม้าพอได้ขนาดหูยาวตามต้องการแล้วก็เอามือหักก้านกล้วยตรงที่กะจะให้เป็นโคนหูม้า ก้านกล้วยก็จะกลายเป็นรูปม้ามีหูม้าชันขึ้นทั้งสองข้าง เสร็จแล้วก็เอาไม้เสียบลูกชิ้น ความยาวประมาณคืบเศษ เสียบหัวม้าที่พับเอาไว้ เสียบทะลุไปที่ก้าน ไม้ที่เสียบก็จะมีลักษณะเหมือนสายบังเหียนที่ผูกปากม้ากับคอม้า เสร็จแล้วก็นำเชือกมาผูกด้านหัวม้าและหางม้า ทำเป็นสายสะพายบ่า 4.เด็กเก็บอุปกรณ์เข้าที่ให้เรียบร้อย ประโยชน์ที่เด็กๆได้รับในการทำกิจกรรมคือ1.เด็กได้รู้จักอุปกรณ์และวิธีการทำม้าก้านกล้วย 2.เด็กสามารถนำวัสดุธรรมชาติมาผลิตเป็นของเล่นให้เกิดประโยชน์ได้ 3.เด็กร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข สนุกสนาน 4.เด็กได้ออกกำลังกาย ได้เคลื่อนไหวร่างกายเหมาะสมกับวัย 5.เด็กสามารถเก็บของเข้าที่ให้เรียบร้อยได้
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=5314 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 5314