แข่งขันกีฬาอนุบาล

สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านชำป่างาม (จังหวัดฉะเชิงเทรา)

ผู้จัดทำ นางสาวอรชา บุญลาย

ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษาสามารถจัดการประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสําคัญ



            ลักษณะของพัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของเด็ก มักปรากฏออกมาในรูปของการเคลื่อนไหว ซึ่งในเด็กแรกเกิดจะเป็นการเคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องได้รับการฝึกหัด เช่น การดิ้นไปดิ้นมา การไขว่คว้า แต่เมื่อเด็กโตขึ้น ระดับของการเคลื่อนไหวจะเพิ่มขึ้นจากการดิ้น คลาน มาเป็นการยืน เดิน วิ่ง กระโดด และการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนมากขึ้น การเล่นกีฬา เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาทางด้านร่างกาย โดยเฉพาะความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ให้กับเด็กปฐม วัยได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกวิธีการหนึ่ง และเพื่อพัฒนาด้านอารมณ์และสังคม โดยการปลูกฝังความมีน้ำใจนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักการให้อภัย และรู้จักเคารพกติกา เพราะการเล่นกีฬาสำหรับเด็กในระดับปฐมวัยจะเป็นรูปแบบของการเล่นที่มีกฎกติกา มีวิธีการแข่งขันง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเหมาะสมกับวัยของเด็ก บางครั้งอาจจะนำประเภทของกีฬาที่ใช้ในการแข่ง ขันกับเด็กโตมาปรับใช้ บางครั้งอาจเป็นเกมพลศึกษา เช่น การวิ่งเก็บของ เกมประเภทผลัด เป็นต้น และในบางครั้งอาจจะเป็นกีฬาสำหรับเด็กปฐมวัยที่ใช้การละเล่นของไทย เช่น การแข่งขันชักเย่อ วิ่งเปี้ยว เป็นต้น ในปัจจุบันนี้หน่วยงานต่างๆที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาได้จัดให้มีประเภทของกีฬาระดับอนุบาลและให้มีการแข่งขันกัน ซึ่งนอกจากจะมุ่งพัฒนาความแข็งแรงทางด้านร่างกายแล้ว ยังมีการตัดสินเพื่อให้รางวัลแพ้ชนะกันอีกด้วย เด็กจะได้รับประโยชน์อะไรจากการเล่นกีฬา? การเล่นกีฬาหรือเกมการเล่นกลางแจ้งสำหรับเด็กปฐมวัย ช่วยให้เด็กได้รับประโยชน์ ดังนี้ มีการเคลื่อนไหวร่างกายในส่วนต่างๆ เช่น แขน ขา มือ ลำตัว และศีรษะ รวมถึงการควบคุมการเคลื่อนไหว การทรงตัว การประสานกันของการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ ทำให้เด็กมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง สามารถใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ทำงานต่างๆได้ดี มีความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ การเล่นกีฬาทำให้เด็กรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย ทำให้มีอารมณ์ดี รู้จักบทบาทของตนเองในการเล่นและการเรียนรู้กระบวนการกลุ่ม มีผลต่อพัฒนาการทางด้านสติปัญญา เช่น การเล่นทำให้เด็กได้คิดแก้ปัญหา เกิดจินตนาการและความคิดสร้าง สรรค์ การเรียนรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ เช่น การแบ่งจำนวนผู้เล่นให้เท่ากัน การยืนเรียงแถว การนับจำนวนสมาชิกในแต่ละทีมในการเล่นกีฬา เป็นต้น ฝึกสมองในการคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การคาดคะเน การรับรู้กฎ กติกามารยาท การทำสิ่งต่างๆด้วยความสุข รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจโครงสร้างทางด้านสรีระ เช่น การใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย ฝึกการเคลื่อนไหว การใช้พลังงานของร่างกาย และยังช่วยให้เด็กได้ค้นหาความสามารถพิเศษของตนเอง

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=5242 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 5242