กิจกรรมรั้วรักษ์สมุนไพร

สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสว่างอารมณ์ (จังหวัดอุบลราชธานี)

ผู้จัดทำ นางฤดีวรรณ ลาธุลี

ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษามีทรัพยากรและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ



            กิจกรรมรั้วรักษ์สมุนไพร ขั้นตอนการดำเนินการ เริ่มจากการประชุมครูเพื่อแต่งตั้งกรรมการดำเนินการ เลือกพื้นที่ที่จะทำสวนสมุนไพรแล้วล้อมรั้วตาข่ายเพื่อกัน สัตว์เข้ามารบกวนหรือทำลายสวน สมุนไพร ครูและเด็กช่วยกันเตรียมแปลงปลูกเสร็จแล้วให้เด็กเตรียมสมุนไพรมาจากบ้าน เด็กและครูร่วมกันปลูกสมุนไพร แล้วจัดตั้งเวรประจำวันดูแลสวนสมุนไพรวันละ 4 - 5 คน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 สัปดาห์( 2 - 6 พ.ย. 2558 ) ประโยชน์ที่ได้จากกิจกรรมนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้น เด็กเกิดความภาคภูมิใจในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ของตนเอง โดยเด็กๆเห็นคุณค่าและเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์สมุนไพร รวมทั้งมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมและได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม รูปแบบการดำเนินงาน กิจกรรมนี้ใช้รูปแบบการสอนแบบการเรียนรู้จากสภาพจริง ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติจริง การร่วมมือกันทำงาน การคิดอย่างมีจารณาญาณ การแก้ปัญหา การฝึกทักษะต่างๆที่เป็นการสร้างทักษะชีวิตให้กับตนเอง โดยกิจกรรมนี้เชื่อมโยงกับทฤษฎีของ จอห์น ดิวอี้ ที่เชื่อว่ามนุษย์จะต้องปรับตัวเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดและเชื่อว่ามนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหาจึงต้องฝึกให้มนุษย์แก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการกระทำ ฝึกปฏิบัติ ฝึกคิด ฝึกลงมือทำและฝึกทักษะกระบวนการต่างๆ โดยกิจกรรมรั้วรักษ์สมุนไพรนี้สอดคล้องกับตัวบ่งชี้ ด้านการจัดสภาพแวดล้อมทรัพยากร มีแหล่งเรียนรู้ภายในที่เอื้อต่อการจัดการศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีการจัดโครงการและกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนอย่างหลากหลาย รวมไปถึงด้านผู้เรียนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีทักษะในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นและมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพ ผู้เรียนมีทักษะในการหาความรู้ด้วยตนเองรักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=4955 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 4955