โครงงานตุ๊กตาต้นข้าว
สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระ ( โรงเรียนวัดเกาะกระชาย ) (จังหวัดนครนายก)
ผู้จัดทำ นางรุ่งฤดี ภาถีร
ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษาสามารถจัดการประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสําคัญ
เข้าร่วมโครงการ “ ส่งยิ้มทั่วไทย ให้ครูเล่าเรื่อง ” ข้าพเจ้า นางรุ่งฤดี ภาถีร ครูผู้ดูแลเด็กอนุบาลและปฐมวัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระ ( โรงเรียนวัดเกาะกระชาย ) ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ๒๖๐๐๐ สำเร็จการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ตามโครงการความร่วมมือ ฯ รุ่นที่ ๑ สำเร็จการศึกษา วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ปัจจุบัน เป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระ งานที่ส่งเข้าร่วมโครงการ “ ส่งยิ้มทั่วไทย ให้ครูเล่าเรื่อง ” โครงงานตุ๊กตาต้นข้าว / กิจกรรมการเรียนรู้การเจริญเติบโตของต้นข้าว ที่มาและความสำคัญของโครงงาน เนื่องจากเด็กปฐมวัยเป็นวัยทองของชีวิต สมองของเด็กวัยนี้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าวัยอื่น ๆ จึงต้องมีการส่งเสริมพัฒนาการที่ถูกต้องตามวัยของเด็ก ครูจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาเพื่อสนองความต้องการตามวัยของเด็ก เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัว การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กจึงมุ่งให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงได้ลงมือปฏิบัติจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในหน่วยการเรียนเรื่อง เติบใหญ่ด้วยเมล็ดข้าว จึงได้จัดทำโครงงานตุ๊กตาต้นข้าวขึ้นเพื่อให้เด็กได้ศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จากการที่เด็ก ๆ ช่วยกันทำงานและรับผิดชอบงานร่วมกัน โครงงานที่ทำเป็นโครงงานง่าย ๆ ที่เด็ก ๆ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่ ครูคอยแนะนำขั้นตอนในการทำ เศษวัสดุที่นำมาใช้ก็หาได้ง่าย จากเศษวัสดุที่เหลือใช้ ไม่ได้ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ต้องลงทุนซื้อสื่อที่ราคาแพง เด็กก็สามารถเรียนรู้ได้ และเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักการนำสิ่งของหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ครูมีสื่อการเรียนที่หลากหลาย เด็กสนุกกับการเรียนการสอนที่ครูได้จัดให้ เพราะได้ลงมือกระทำปฏิบัติจริง เด็กเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว วัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การเจริญเติบโตของพืชจากการปลูกต้นข้าว 2. เพื่อให้เด็กรู้จักการดูแลรดน้ำต้นไม้ 3. เพื่อให้เด็กได้ประสบการณ์ตรง 4. เพื่อให้เด็กมีความรับผิดชอบและการทำงานร่วมกัน วัสดุ / อุปกรณ์ 1. เมล็ดข้าวเปลือก 2. ซังมะพร้าว 3. ถุงน่อง 4. แก้วพลาสติกเหลือใช้ 5. กระดาษสี วิธีดำเนินการ 1. นำข้าวเปลือกแช่ในน้ำไว้ 1 วัน 2. ฉีกซังมะพร้าวให้เป็นเส้นเล็ก ๆ 3. นำซังมะพร้าวใส่ลงไปในถุงน่องให้ได้รูปทรงกลม ๆ 4. หยอดเมล็ดข้าวที่แช่น้ำไว้ลงไปในถุงน่อง และมัดให้เรียบร้อย 5. นำถุงน่องยัดใส่ลงไปในแก้วพลาสติก 6. รดน้ำทุกวัน 7. สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงในวันต่อ ๆ ไป 8. เมื่อต้นข้าวงอกเต็มที่ จึงทำการประดิษฐ์ตกแต่งเป็นตุ๊กตาต้นข้าว ต้นข้าวที่งอกทำเป็นส่วนผมของตุ๊กตา ตารางการสังเกตการเจริญเติบโตของต้นข้าว วันที่ การเปลี่ยนแปลง 1 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง 2 ต้นข้าวเริ่มงอกเป็นเม็ดเล็ก ๆ 3 ต้นข้าวงอกขึ้นประมาณ 1 มิลลิเมตร 4. ต้นข้าวงอกขึ้นประมาณ 1 ซม. 5. ต้นข้าวงอกขึ้นประมาณ 1.5 ซม. 5-10 ต้นข้าวมีการเจริญเติบโตขึ้นทุกวัน - ต้นข้าวงอกเต็มที่ก็ นำกระดาษสีมาประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาต้นข้าว โดยต้นข้าวคือส่วนผมของตุ๊กตา ผลจากการศึกษา 1. เด็กรู้จักการเจริญเติบโตของต้นข้าวจากประสบการณ์ตรง 2. เด็กรู้จักการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ 3. เด็กรู้จักการดูแลรดน้ำต้นไม้ 4. เด็กมีความสามัคคีและทำงานร่วมกันได้
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=3698 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 3698