การปฎิบัติงานของครูติ๊ก
สร้างโดย นางปัญญา วงศ์คุณทรัพย์ (จังหวัดพิษณุโลก)
ผู้จัดทำ นางปัญญา วงศ์คุณทรัพย์
ประเภทตัวชี้วัด : หัวหน้าสถานศึกษา มีคุณธรรมจริยธรรมมีภาวะผู้นําและมีความสามารถในการบริหารจัดการ
การปฏิบัติงานของครูติ๊ก ดิฉัน นางปัญญา วงศ์คุณทรัพย์ ชื่อเล่นครูติ๊ก ตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็ก สังกัดเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก สำเร็จการศึกษาวุฒิปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต สาขาการศึกษาปฐมวัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ปฏิบัติงานมาแล้วเป็นเวลาจำนวน ๒๒ ปี เริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ในตำแหน่งผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็ก ประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก มีนักเรียนที่รับผิดชอบดูแลอยู่จำนวน ๕๐ คน แบ่งออกเป็นสองห้องเรียน ขณะที่ปฏิบัติงานในขณะนั้นได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากคณะผู้ปกครองนักเรียนที่นำนักเรียนเข้ามาเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นอย่างมาก ในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาได้ทุ่มเทเสียสละให้กับการปฏิบัติงานในอาชีพครู ทั้งแรงกายแรงใจและทุนทรัพย์ส่วนตัว เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ ให้มีความทัดเทียมหรือมีความใกล้เคียงกับเด็กนักเรียนที่อยู่ในตัวเมือง ให้การอบรมสั่งสอนให้ความรักความเอ็นดู ดูแลอย่างใกล้ชิด ผลิตสื่อการเรียนการสอนที่ขาดแคลนให้มีใช้โดยใช้นวัตกรรม จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่รวมทั้งได้รับความร่วมมือผู้ปกครองและชุมชน เพื่อเป็นการพัฒนาให้เด็กที่ด้อยโอกาสได้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น จนได้รับความชื่นชมจากผู้ปกครองทุกๆคน ให้ความเชื่อมั่นในตัวคุณครูเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ องค์การบริหารส่วนตำบลบางระกำ (ขณะนั้น ) ได้รับงบประมาณจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของตนเองขึ้น ที่ในพื้นที่บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกขึ้นมาใหม่ จึงได้ยุบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบางระกำเข้าไปอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในองค์การบริหารส่วนตำบลบางระกำแทน และได้ปรับเป็นเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ ส่วนตัวดิฉันได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานเป็นผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็กที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเป็ด หมู่ ๒ ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก สังกัดเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ ซึ่งมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่ในสังกัดจำนวน ๓ ศูนย์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเป็ดเริ่มตั้งมาแล้ว ๒ ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มี ผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็ก จำนวน ๑ คน มีเด็กนักเรียนอยู่ไม่ถึง ๑๐ คน และลาออกไปเรียนที่อื่น ส่วนผู้ช่วยครูที่สอนดูแลอยู่ก็ได้ลาออกไปประกอบอาชีพอื่นแทน ดิฉันจึงได้มาทำการสอนแทน โดยเป็นผู้ช่วยครูอยู่คนเดียวในศูนย์ฯแห่งนี้ ขณะที่ย้ายเข้ามาใหม่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเป็ดทรุดโทรมไม่ได้รับการปรับปรุงพัฒนา ซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ไม่มีผู้ใดนำบุตรหลานเข้าเรียนในศูนย์ฯ ดิฉันย้ายเข้ามาสอนในปี ๒๕๕๓ มีนักเรียนจำนวน ๘ คน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเป็ดเป็นศูนย์ฯระดับเล็ก ผู้คนไม่ค่อยจะรู้จัก เพราะที่ผ่านมาไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้รู้จัก ประกอบกับศูนย์ฯอยู่ในโรงเรียนวัดวังเป็ด เพราะอาศัยอาคารเรียนของโรงเรียนเป็นศูนย์ฯ เมื่อดิฉันได้ย้ายมาสอนในศูนย์ฯนี้ ดิฉันจึงได้ทำการออกสืบสภาพหาข่าวภายในของชุมชนบ้านวังเป็ดและสืบสภาพเด็กๆ ในหมู่บ้าน เพื่อที่จะได้นำปัญหามาแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้มีเด็กนักเรียนเข้ามาเรียน หมู่บ้านวังเป็ดเป็นชุมชนเล็กๆ ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรและรับจ้าง ฐานะไม่ค่อยดีค่อนข้างยากจน ผู้มีฐานะปานกลางจะส่งบุตรหลานของตนเองเข้าไปเรียนในตัวเมืองพิษณุโลก เพราะว่าหมู่บ้านติดถนนใหญ่ การคมนาคมไปมาสะดวก ส่วนผู้ที่มีฐานะยากจนและมีอาชีพไม่แน่นอนจะนำบุตรหลานไปเข้าเรียนโรงเรียนวัดวังเป็ด หรือโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียง จากการออกพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนหมู่บ้านวังเป็ดทำให้ได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ดังนั้นดิฉันจึงได้ประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเป็ด ออกแจกจ่ายให้กับประชาชนตามแหล่งต่างๆ และตามร้านค้าที่อยู่ในชุมชนบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียง พร้อมทั้งบอกกล่าวทางวาจาฝากให้ผู้ทราบประชาสัมพันธ์บอกต่อๆกันไป จากการประชาสัมพันธ์เชิงรุกผลที่ได้รับกลับมาคือมีผู้ปกครองนำนักเรียนเข้าสมัครเรียนเพิ่มเติมเป็นจำนวนอีกหลายคน ต่อจากนั้นเป็นต้นมามีนักเรียนในศูนย์ฯเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเกือบสี่สิบคน ซึ่งปัจจุบันนี้มีนักเรียนในศูนย์ฯ จำนวน ๓๕ คน ส่วนอาคารสถานที่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเป็ด ดิฉันได้ปรับปรุงพัฒนาตกแต่งแก้ไขซ่อมแซมอาคารในห้องเรียนศูนย์ฯให้น่าอยู่มีสภาพที่ดีขึ้น ซ่อมแซมเปลี่ยนฝ้าเพดานในห้องเรียนที่เก่าชำรุด จัดภูมิทัศน์สถานที่ให้สะอาดน่าอยู่น่าอาศัย จัดของบประมาณจากหน่วยงานร่วมกับประชาชนในชุมชนหมู่บ้านวังเป็ดจัดสร้างห้องน้ำของศูนย์ฯที่ถูกสุขลักษณะสะอาด สวยงาม ที่เหมาะสมกับเด็กระดับปฐมวัย จำนวน ๔ ห้อง รวมทั้งห้องอาบน้ำและซักล้าง อีก ๑ ห้อง และที่แปรงฟันเด็กนักเรียนอีก ๒๐ ก๊อกน้ำ จากเดิมที่มีห้องน้ำเพียง ๑ ห้องเท่านั้น ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับนักเรียนที่มีจำนวนสามสิบกว่าคน จัดทำเทพื้นปูนเพื่อขยายพื้นที่บริเวณหน้าอาคารเรียนให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติมมากขึ้น จัดทำแผ่นป้ายชื่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเป็ดชนิดคงทนถาวร ซ่อมแซมปรับปรุงรั้วอาคารเรียนให้สวยงามแข็งแรง โดยคิดเสมอว่าศูนย์ฯเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองหรือบ้านใหม่ของนักเรียน จัดสวนหย่อมให้สวยงามร่มรื่น น่าอยู่น่าอาศัยสำหรับผู้พบเห็น และได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน โครงงาน โครงการตลอดทั้งปี จัดกิจกรรมทั้งภายในห้องเรียนและศึกษานอกห้องเรียนนอกสถานที่ ให้นักเรียนได้รับประสบการณ์โดยตรง จากสัมผัสทั้งห้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาการทั้งสี่ด้าน คือด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา จากการพัฒนาเหล่านี้ทำให้ได้รับรางวัลจากการประกวดศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ ชนะเลิศที่ ๑ ของอำเภอบางระกำเมื่อ ปี ๒๕๕๓ ที่ดิฉันได้ย้ายเข้ามาเมื่อปีแรก โดยได้รับโล่และเกียรติบัตรจาก ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้รับเป็นผู้ให้จัดบูธแสดงผลงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเป็ดในงานที่ได้รับมอบรางวัล จากผลงานที่ผ่านมาทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองนักเรียน และคณะกรรมการศึกษาให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้นทุกครั้ง ปัจจุบันศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเป็ดมีนักเรียนทั้งชายและหญิงจำนวน ๓๕ คน ดิฉันปัจจุบันเป็นครูผู้ดูแลเด็ก ประจำศูนย์ ฯบ้านวังเป็ด มีแม่บ้านเป็นผู้ช่วย ๑ คน ที่คอยช่วยดูแลน้องๆ และช่วยกันทำความสะอาดดูแลศูนย์ฯ ศูนย์แห่งนี้ได้รับความชื่นชมจากชุมชนผู้ปกครองนักเรียนรวมถึงคณะ สมศ. ที่เดินทางมาตรวจเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังเป็ดที่มีการเปลี่ยนแลงในทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ดิฉันได้ย้ายมาปฏิบัติงานที่ศูนย์แห่งนี้ในระยะเพียง ๒ ปีเท่านั้น โดยดิฉันคิดว่าการเป็นครูนั้นมิใช่เป็นเพียงแต่ชื่อคำว่า “ ครู ”เท่านั้น ต้องเป็นครูทั้งกายใจตลอดจนพฤติกรรมของความเป็นครู ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ลักษณะครูที่ดีมีสามด้าน คือ ความรู้ดี มีคุณธรรม และบุคลิกภาพดี รวมถึงพฤติกรรมของความเป็นครู ครูเปรียบได้ดังต้นไม้ ดังนี้ คือ - เปลือกครู - เนื้อครู - แก่นครู การเป็นครูต้องมีคุณธรรมสูง มีอุดมคติ มีความศรัทธาในวิชาชีพทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ดิฉันได้ปฏิบัติตนเองตาม “ พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีพระราชทานแด่ครู ” ว่า “ อาชีพครูถือว่าสำคัญอย่างยิ่งเพราะครูมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญมั่นคง และก่อนที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญได้นั้น จะต้องพัฒนาคนซึ่งได้แก่ เยาวชนของชาติเสียก่อน เพื่อให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าสมบูรณ์ทุกด้าน จึงจะสามารถช่วยกันสร้างความเจริญให้แก่ชาติต่อไปได้ ” ดิฉันได้ยึดหลักของสมเด็จพระเทพ ฯ มาใช้ตลอดการปฏิบัติงาน ตัวอย่างพฤติกรรม “แก่นครู” มาโรงเรียนแต่เช้า กลับถึงเหย้าเมื่อเย็น สอนศิษย์ให้คิดเป็นทำตัวเช่นที่สอนศิษย์ ไม่ติดสุรา ไม่ขี้ยาติดบุหรี่ หนี้สินไม่มี กินพอดีไม่ฟุ้งเพ้อ ไม่เพ้อเจ้อนินทา ให้เวลาสอนเพิ่ม สอนซ่อมเสริมเด็กเรียนช้า มีเมตตากับทุกคน ไม่ซุกซนมั่วโลกีย์ ไม่เป็นผีการพนัน ขยันอบรมศิษย์ เป็นมิตรกับทุกคน ค้นคว้าหาความรู้ กตัญญูกตเวที เอื้ออารีมิตรสหาย ไม่แต่งกายนำสมัย ทำจิตใจให้เบิกบาน . ......................................................................................................... สวัสดีค่ะ.....
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=3607 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 3607