ประเพณีบุญผะเหวดหรือบุญพระเวสสันดร

สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดมหาคงคา (จังหวัดชัยภูมิ)

ผู้จัดทำ นางจันฉาย วรรณมาตร

ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษามีการจัดทำหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ



            บุญผะเหวด บุญพระเวสสันดร หรือ บุญมหาชาติ ซึ่งเป็นการทำบุญในเดือนสี่ บางครั้งก็เรียก “ บุญเดือนสี่” ในบางท้องถิ่นจะทำบุญเดือนนี้ในเดือนสามรวมกับบุญข้าวจี่และบุญกุ้มข้าวใหญ่ ให้เป็นบุญเดียวกันส่วนเดือนสี่ก็เว้นไว้ บุญผะเหวดส่วนมากจะกระทำกันในเดือนสี่ เป็นประเพณีไทยภาคอีสาน ซึ่งจะทำบุญผะเหวด ปีละ ๑ ครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ จะจัดประเพณีบุญ ผะเหวดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี โดยจะมีวันรวมตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลาหรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมารรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย การจัดงานบุญผะเหวด หรือ งานเทศน์มหาชาตินิยมที่อัญเชิญพระอุปคุต มาปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชค ลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึงมีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจาก สะดือทะเล สืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายร้อยปี เมื่อถึงเดือนสี่ชาวอีสานแต่ละหมู่บ้านจะประชุมกันเพื่อ กำหนดวันจัดงาน ตามความพร้อมของแต่ละหมู่บ้าน เมื่อกำหนดวันเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะบอกกล่าวญาติ พี่น้อง และหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ และจะช่วยกันหาดอกไม้มาตากแห้งไว้ ช่วยกันฝานดอกโน งานนี้เป็นงานใหญ่ทำติดต่อกันสามวัน ครูผู้สอนได้เห็นถึงความสำคัญในการให้เด็กได้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีไทยอีสานท้องถิ่น ร่วมทั้งให้เด็กได้มีส่วนร่วมกับชุมชน จึงได้จัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกพื้นที่ ณ วัดมหาคงคา อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ เด็กให้ความสนใจ ในการทำดอกโน ดอกโนจะใช้ในการประดับตกแต่งศาลาการเปรียญให้มีความคล้ายกับป่าหิมพานในตำนาน และเด็กได้ร่วมกันฟังเทศนา ในงานบุญดังกล่าวด้วย

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=3430 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 3430