เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน
สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโพธิ์ศรีสะอาด (จังหวัดชัยภูมิ)
ผู้จัดทำ นางสาวอัญชัน ป้องขันธ์
ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษามีการจัดองค์กรโครงสร้างระบบการบริหารและพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบและครบวงจร
การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยในแต่ละวันนั้น จะจัดกิจกรรม 6 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้งและกิจกรรมเกมการศึกษา ซึ่งแต่ละกิจกรรมสามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม การทัศนศึกษาในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมประสบการณ์ในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เด็กๆ ได้ไปทัศนศึกษานั้น ได้แก่ การเลี้ยงหนอนไหม การทอผ้าไหม การทอสื่อกก การจักสานจากไม้ไผ่ การไผหญ้ามุงหลังคา เป็นต้น สิ่งที่เด็กได้รับจากจากไปทัศนศึกษาในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นคือ เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทั้งสี่ ด้านคือ 1.พัฒนาการด้านร่างกาย เด็กได้เคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายจากการเดินทัศนศึกษา ทำให้กล้ามเนื้อใหญ่มีความแข็งแรง ส่วนกล้ามเนื้อมือก็สามารถใช้ประสานสัมพันธ์กับตาได้ดี เพราะเด็กได้สัมผัส จับต้องสื่อของจริง ได้ลงมือปฏิบัติจริง 2.พัฒนาการด้านอารมณ์-จิตใจ เด็กเกิดความสุขสนุกสนานในการร่วมกิจกรรม มีความสนุกในการเดิน การแสดงออกถึงอารมณ์ต่างๆ ได้เหมาะสมกับวัย 3.พัฒนาการด้านสังคม เด็กได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักกฎ ระเบียบ หรือข้อตกลงร่วมกันขณะทำกิจกรรม เช่น เดินเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ เมื่อมีรถวิ่งสวนมาให้หยุดเดิน ห้ามเด็ดดอกไม้หรือทำลายสิ่งของขณะเดินทัศนศึกษา เป็นต้น 4.พัฒนาการด้านสติปัญญา เด็กได้เรียนรู้กับสื่อของจริง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาในท้องถิ่น เด็กได้ฝึกการคิด การตั้งคำถามจากสิ่งทีเด็กสนใจหรือสงสัย ทำให้เด็กได้ฝึกการพูด การใช้ภาษา การสังเกต การเปรียบเทียบ กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น นอกจากเด็กจะได้รับการพัฒนาการทั้งสี่ด้านแล้ว เด็กยังได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน การนำสิ่งต่างๆ เช่น ต้นกก ไม้ไผ่ หญ้าคา เป็นต้น มาประดิษฐ์ใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างรายได้ให้กับครอบครัว นอกจากนี้เด็กจะเกิดความรัก ความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน เกิดการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=3394 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 3394