ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการเรียนรู้ของเด็กในชุมชน
สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลภูเขียว (จังหวัดชัยภูมิ)
ผู้จัดทำ นางสาวสุระคนา เบ้าโนนทอง
ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษามีการจัดทำหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลภูเขียว ร่วมกับกองสวัสดิการและสังคม สำนักงานเทศบาลตำบลภูเขียว อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ได้จัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุในชุมชน (ปราชญ์ชาวบ้าน)แขนงต่างๆ ได้มีโอกาสเข้ามาถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้กับเด็กและเยาวชน ในชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่แปลกใหม่และเด็กๆ ก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งกิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ ยังสอดคล้องกับมาตรฐานของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ กำหนดให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรต่างๆ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่นๆให้มีส่วนร่วมและหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างชุมชน โดยกิจกรรมที่นำเสนอ มีทั้ง การเป่าแคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของภาคอีสาน เด็กจำนวนมากไม่รู้จักเครื่องดนตรีชนิดนี้เลย การทำบายศรี และการทำขวัญ ซึ่งจะใช้ในโอกาสสำคัญๆเท่านั้น การเล่านิทานพื้นบ้าน การท่องผญา (ผญา คือ การเล่าเรื่อง การเล่านิทาน คติสอนใจ หรืออื่นๆ ซึ่งจะนำเสนอเป็นคำคล้องจ้องหรือบทกลอนต่างๆโดยใช้ภาษาอีสานเท่านั้น) ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กๆเป็นอย่างดี เพราะกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ เด็กๆไม่เคยเห็นหรือไม่ได้สัมผัสมาก่อนและไม่คิดว่ามีอยู่จริง กิจกรรมเหล่านี้เป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการปลูกฝังจิตสำนึก และค่านิยมอันพึงประสงค์แก่เด็กและเยาวชน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กผ่านกิจกรรมที่หลากหลายและเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม และเป็นการกระตุ้นความสนใจของเด็กๆได้เป็นอย่างดี เด็กจะได้รับการพัฒนาครบทั้ง ๔ ด้าน และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุในชุมชน ให้สมกับเป็นบุคคลที่”ทรงคุณค่า”ที่สุดในชุมชน
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=3342 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 3342