กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบเพลง

สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.นิคมพัฒนา (จังหวัดระยอง)

ผู้จัดทำ นางสาววิมล สดคมขำ

ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษามีการจัดระบบประกันคุณภาพภายในศพด.อย่างต่อเนื่องตามระบบวงจร PDCA



             กิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก เพราะเด็กได้ใช้ร่างกายเป็นสื่อกลางในการแสดงออกทางอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์ตามจังหวะ เสียงดนตรี และเสียงเพลง โดยการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ความสำคัญของการเคลื่อนไหวต่อเด็ก 1. การร้อง เล่น เต้นรำ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เด็กๆ ชอบ เพราะเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองต่อธรรมชาติของเด็กที่ไม่อยู่นิ่งและชอบเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ตลอดเวลา 2. ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เดิน วิ่ง กระโดดโลดเต้น ชูมือ หมุนตัว ส่ายเอว เพื่อที่จะสามารถพัฒนาทักษะในการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 3. ช่วยให้สุขภาพร่างกายของเด็กแข็งแรง และพัฒนาอวัยวะทุกส่วนของเด็กให้มีความสัมพันธ์กันอย่างดีในการเคลื่อนไหว เพราะการที่เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายในการเต้นรำตามจังหวะและเสียงดนตรีนั้น เป็นการที่เด็กได้ออกกำลังกายโดยตรง 4. ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก เพราะการที่เด็กได้คิดค้นท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระผ่านทางเสียงเพลงเช่น การเคลื่อนไหวเล่นบทบาทสมมุติตามเพลง การเคลื่อนไหวร่างกายกับอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการคิดสร้างสรรค์และจินตนาการให้แก่เด็กได้ดีมากทีเดียว 5. ช่วยให้เด็กเกิดความมั่นใจในตนเอง เพราะกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะนั้นเป็นกิจกรรมที่ไม่ปิดกั้นในการที่เด็กได้แสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างอิสระ ซึ่งส่งผลในการพัฒนาความเป็นเอกลักษณ์และความมั่นใจในตนเองแก่เด็กต่อไป 6. ช่วยให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะจะเป็นกิจกรรมที่เด็กได้ทำร่วมกับผู้อื่น เช่น เต้นรำในจังหวะต่างๆ เช่น จังหวะวอลซ์ จังหวะชะชะช่า ร่วมกับเพื่อน ซึ่งการที่เด็กได้เต้นรำ เคลื่อนไหวร่างกายร่วมกับผู้อื่นนั้น เป็นการพัฒนาทักษะทางสังคมให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี 7. การที่เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะเพลง และเสียงดนตรีนั้น ช่วยให้เด็กสนุกสนาน เบิกบาน ผ่อนคลายความเครียด ซึ่งเป็นผลที่ทำให้เด็กเป็นคนมีอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส 8. การร้อง เต้น เล่นสนุกช่วยพัฒนาสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็ก เช่น ในด้านภาษา เด็กได้เรียนรู้ด้านภาษาผ่านทางเนื้อเพลง ได้เรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ผ่านทางจังหวะของดนตรี 9. ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ประจำชาติของประเทศต่างๆ เช่น การรำ การเต้นระบำฮาวาย การเต้นแบบจีน การเต้นแบบแขก 10. ช่วยให้เด็กมีความสามัคคีและปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่ม เช่น การออกกำลังกายตามเพลงพร้อมกับเพื่อนๆ นอกจากนี้กิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะยังช่วยฝึกการเป็นผู้นำ ผู้ตามให้แก่เด็กอีกด้วย เช่น ให้เด็กทำท่าทางเคลื่อนไหวร่างกายเป็นผู้นำแล้วให้เพื่อนปฏิบัติตาม โดยมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป สิ่งที่ต้องจัดเตรียมในการจัดกิจกกรมการเคลื่อนไหวคือ อธิบายถึงกฎกติกาของการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน เช่น ไม่ผลักหรือชนคนอื่น มีช่องว่างเฉพาะของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ - มีที่ว่างพอหรือไม่สำหรับทำกิจกรรมการเคลื่อนไหว - เวลาในการทำกิจกรรม - คุณพ่อ คุณแม่และลูกทุกคนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่ - กิจกรรมนั้นเหมาะกับวัยของลูกหรือไม่ - ลูกรู้สึกตื่นเต้นกับการทำกิจกรรมนั้นหรือไม่ การทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวกับลูกจะช่วยพัฒนาทั้งทักษะการคิด ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกายและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กในเวลาเดียวกัน อีกทั้งช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะความจำ และทักษะการฟังอีกด้วย โดยรูปแบบของกิจกรรมการเคลื่อนไหวนั้นอาจเป็นเกมและการละเล่นต่างๆ การเล่นบทบาทสมมติ และการเต้นรำ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กและช่วยพัฒนาความฉลาดของลูกน้อยอย่างแน่นอน ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาผู้เรียนให้มีสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยทางด้านศิลปะดนตรีและการเคลื่อนไหวจึงจัดกิจกรรมที่หลากหลายทางด้านดนตรีและการเคลื่อนไหวทุกวันในกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะมีทั้งการเคลื่อนไหวพร้อมอุปกรณ์ประกอบเพลง และยังจัดกิจกรรมในโครงการต่าง ๆ ให้มีการแสดงออกของผู้เรียนทุกระดับชั้น เช่น กิจกรรมวันแม่ให้ผู้เรียนได้กล้าแสดงออกบนเวที กิจกรรมวันกีฬาสีเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความสามาถในการเต้นประกอบเพลงเป็นการเปิดงานกีฬา หรือแม้กระทั่งกิจกรรมหน้าเสาธงยามเช้าทุกวันจะต้องมีการเคลื่อนไหวประกอบเพลงโดยการมีผู้นำหน้าเสาธงทั้งครูและผู้เรียนผลัดเปลี่ยนกันทุกวัน ทำให้เด็กได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลินในการเคลื่อนไหว ร่างกายพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพ

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=3301 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 3301