หนูน้อยฟันดี
สร้างโดย ศพด.บ้านท่าโทก ต.ทุ่งฝาย อ.มือง จ.ลำปาง (จังหวัดลำปาง)
ผู้จัดทำ นางแสงจันทร์ อินปา
ประเภทตัวชี้วัด : สถานศึกษามีความร่วมมือระหว่างบ้าน,ศาสนา,การศึกษา,ภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในชุมชน
สุขภาพในช่องปากเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดูแลรักษาอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เพราะเป็นอวัยวะที่มีประโยชน์มากมีหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหาร ช่วยในการออกเสียงและยังช่วยเสริมใบหน้าให้สวยงาม เสริมบุคลิกภาพเป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น การไม่เอาใจใส่ในการแปรงฟันให้สะอาดอย่างถูกวิธีเป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้เป็นโรคฟันผุ เหงือกอักเสบและโรคระบบทางเดินอาหารรวมทั้งก่อให้เกิดกลิ่นปากอีกด้วย เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นช่วงวัยของฟันน้ำนม ซึ่งมีทั้งหมด ๒๐ ซี่ ฟันน้ำนมมีความสำคัญต่อสุขภาพโดยรวมของเด็ก การมีฟันน้ำนมอยู่ในสภาพที่ดีจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ช่วยให้เด็กออกเสียงได้ชัดเจน ทำให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านภาษา การใช้ฟันน้ำนมบดเคี้ยวอาหารเป็นประจำ ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าและขากรรไกรของเด็กมีพัฒนาการเติบโตสมส่วน ฟันน้ำนมอยู่ครบวาระและโยกหลุดไปตามธรรมชาติ จะทำให้ฟันแท้ขึ้นได้ตรงไม่ซ้อนเกมีรูปใบหน้าสวยงาม เด็กสามารถรับประทานอาหารได้ทุกประเภท ส่วนเด็กที่มีฟันกรามผุมักเลือกรับประทานเฉพาะอาหารนิ่ม ๆ อาจทำให้ขาดสารอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายรวมถึงพัฒนาการทางสมอง เด็กมีสุขภาพดี เพราะไม่ต้องทนทุกข์จากการปวดฟันหรือเจ็บป่วยจากเชื้อโรคแพร่กระจายมาจากฟันผุ เด็กมีสุขภาพจิตดี เพราะการที่เด็กมีฟันดีจะสามารถยิ้มได้อย่างมั่นใจโดยไม่ต้องเกรงจะถูกเพื่อนล้อว่าฟันดำหรือฟันหลอ ดังนั้นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าโทก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพในช่องปากเด็ก จึงได้เข้าร่วมโครงการดูแลสุขภาพช่องปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเขตอำเภอเมืองลำปางและได้นำเด็กเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (บ้านท่าโทก) เมื่อวันพุธที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๖ โดยมีคณะเจ้าหน้าที่กลุ่มงานทันตกรรม จากโรงพยาบาลลำปาง ได้มาทำการรักษาทางทันตกรรมให้กับเด็กเช่น เคลือบหลุมร่องฟัน / อุดฟันและเคลือบฟลูออไรด์ คุณครู ผู้ปกครองและเด็กนั่งรอเจ้าหน้าที่เตรียมเครื่องมือทางการแพทย์ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เรียกชื่อเด็กให้ขึ้นบนเตียงทีละคน เด็กส่วนใหญ่นอนนิ่งพร้อมรับการรักษา แต่มีเด็กบางคนได้สร้างข้อตกลงก่อนรับการรักษา เช่น น้องลูกน้ำ "คุณหมอค่ะ ถ้าน้องน้ำทำฟันเสร็จ น้องน้ำจะเอาลูกโป่ง ๒ ลูกและให้คุณหมอวาดหู ตา ปาก จมูก ลงบนลูกโป่งให้หนูด้วยคะ" ส่วนน้องเต๋าเมื่อเจ้าหน้าที่เรียกชื่ือให้ขึ้นนอนบนเตียง ไม่ยอมอ้าปากรับการรักษา เจ้าหน้าที่และคุณครูช่วยกันปลอบประโลม คุณครูอ้าปากเป็นตัวอย่างให้น้องเต๋าทำตามและยอมให้รักษา ทำฟันเสร็จเรีบยร้อย น้องเต๋าก็ได้รับลูกโป่งจากเจ้าหน้าที่ การพูดจาไพเราะกับเด็ก ไม่บังคับเด็กในการรักษาสุขภาพในช่องปาก เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อหมอฟันและคุณหมอท่านอื่น ๆ อีกด้วย การที่เด็กมีสุขภาพฟันดีทำให้เด็กมีสุขภาพกายดี มีอารมณ์แจ่มใส เป็นการวางรากฐานให้เด็กมีต้นทุนที่ดีต่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นต่อไป
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=3295 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 3295