ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ศูนย์เด็ก

สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเหมืองง่า (จังหวัดลำพูน)

ผู้จัดทำ นางสาวศิริวรรณ อยู่ศรี

ประเภทตัวชี้วัด : ด้านการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย



            วันที่ 26 เม.ย 2556 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน ได้จัดกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยได้เชิญวิทยากรจากชุมชนในสาขาต่าง ๆ มาให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ตามความถนัดของตน เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ถึงบริบทของท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้แบ่งรูปแบบกิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน คือ ** ” กิ๋นหอมต๋อมม่วน จวนมาจักสาน จื่นบานเสียงสะล้อ มาผ่อนวดแผนไทย ” ซึ่งแต่ละฐานจะมีวิทยากรประจำฐานเพื่อให้ความรู้แก่เด็ก เช่น ฐานกิ๋นหอมต๋อมม่วน วิทยากรจะสอนให้เด็กรู้จักวิธีทำขนมครกโบราณ และได้ลิ้มชิมรสของขนมไทยพื้นบ้าน ซึ่งหาทานได้ยากในปัจจุบัน ส่วนฐานจวนมาจักสาน เด็กจะได้รู้จักวิธีการนำไม้ไผ่มาสานเป็นของใช้ต่าง ๆ แต่ฐานที่เด็กให้ความสนใจมากที่สุด คือ ฐานจื่นบานเสียงสะล้อ ซึ่งในฐานนี้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรีพื้นเมือง คือ สะล้อ ซึง ขลุ่ย เมื่อเด็กได้ยินเสียงของเครื่องดนตรีเหล่านี้ ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนาน ซาบซึ้งไปกับเสียงของสะล้อ ซึง ขลุ่ย ถึงกับปรบมือตามจังหวะเพลงที่วิทยากรเล่นให้ฟัง ส่วนฐานสุดท้าย มาผ่อนวดแผนไทย เด็กก็ได้รู้จักวิธีการนวดฝ่าเท้า การนวดตัว ซึ่งเด็กสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ จะเห็นได้ว่าการจัดกิจกรรมแบบฐานการเรียนรู้นี้ เด็กได้รับประสบการณ์ตรง มีความหลากหลาย อีกทั้งยังได้พัฒนาทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา นับว่ากิจกรรมนี้เป็นประโยชน์ต่อเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเหมืองง่าเป็นอย่างยิ่ง ** กิ๋นหอมต๋อมม่วน หมายถึง กินอาหารที่อร่อยและมีความสุข จวนมาจักสาน หมายถึง ชวนมาทำงานเกี่ยวกับการจักสาน จื่นบานเสียงสะล้อ หมายถึง อารมณ์ดีเมื่อได้ยินเสียงสะล้อ มาผ่อนวดแผนไทย หมายถึง มาดูวิธีการนวดแบบแพทย์แผนไทย

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=3178 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 3178