เยี่ยมชุมชน เพื่อให้กำลังใจผู้สูงอาุยุ ในตำบลแม่คือ

สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่คือ (จังหวัดเชียงใหม่)

ผู้จัดทำ นางณัฏกฤตา ปันปวง

ประเภทตัวชี้วัด : ด้านการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย



            ความนำของโครงการ เนื่องจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่คือ เป็นศูนย์เด็กเล็กแห่งเดียวในตำบล ซึ่งมีนักเรียนอยู่ในความดูแลของครูผู้ดูแล มากมายทุกทุกปี กิจกรรมที่จัดให้นักเรียนได้เรียนรู้นั้น เน้นไปทางด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยการลงมือปฏิบัติจริง “ โครงการเยี่ยมชุมชนเพื่อให้กำลังใจผู้สูงอายุในตำบลแม่คือ ”เป็นการสืบเนื่องจากหน่วยการเรียนรู้เรื่อง “ สายใยชุมชน ” ซึ่งเน้นให้เด็กได้รู้จักแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญภายในชุมชน ซึ่งในตำบลแม่คือมีสถานที่สำคัญมากมาย เช่น ตลาดสดแม่คือ แหล่งผลิตร่มบ่อสร้าง การผลิตตุงปี๋ใหม่เมือง การทำผ้าบาติก เป็นต้น ทางคณะครูของศูนย์ ฯ ได้จัดให้เด็กออกเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของชุมชนดังกล่าว เทอมละ 2 – 3 ครั้ง เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กได้เรียนรู้ สังเกตจากสถานที่จริงนั้นเอง “ โครงการเยี่ยมชุมชนเพื่อให้กำลังผู้สูงอายุในตำบลแม่คือ ” เป็นการรับเอานโยบายหลักของท่านนายกเทศมนตรี นายอุดม อิ่นคำ คือ “ บริการอย่างจริงใจ รับใช้ประชาชน ” โดยได้รับการประสานงานและความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเทศบาล เจ้าหน้าที่อผส.( อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ) สท.( สมาชิกสภาเทศบาล ) บุคคลดังกล่าวได้ให้ข้อมูล รายชื่อผู้สูงอายุที่จะเข้าร่วมโครงการ การจัดลำดับความสำคัญของผู้สูงอายุ ที่ควรได้รับกำลังใจจากลูกหลานมากที่สุด โดยทางศูนย์ ฯ ได้จัดการประชุมทุกฝ่าย ก่อนจัดทำโครงการของทุกปี หัวใจสำคัญของโครงการ “ โครงการเยี่ยมชุมชนเพื่อให้กำลังผู้สูงอายุในตำบลแม่คือ ” มีจุดประสงค์หลักที่สำคัญ คือ การมุ่งเน้นให้กำลังใจกับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ในตำบลแม่คือ ซึ่งมีประมาณ 800 คน โดยการให้เด็ก ๆ เป็นทูตในการสื่อสารกับผู้สูงอายุ ความสดใส ความน่ารักของเด็ก ๆ นั้น ทำให้ผู้สูงอายุเกิดรอยยิ้ม และน้ำตาได้ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากผู้สูงอายุบางราย ไม่เคยได้รับการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลานมากนัก ทำให้เกิดความดีใจที่ยังมีคนให้ความสำคัญกับตนอยู่ และเด็ก ๆ ยังได้เรียนรู้การใช้คำพูด การปฏิบัติตนกับผู้สูงอายุ นอกเหนือจากเรียนรู้ในห้องเรียน ผู้สูงอายุเองยังได้อวยพรเป็นคำเมืองให้กับเด็ก ๆ ( พรปี๋ใหม่เมือง ) ซึ่งเป็นการให้เด็กได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นได้อีกด้วย วิธีการดำเนินโครงการ โครงการดังกล่าว ได้เริ่มจัดตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 และ ปีการศึกษา 2555 ก่อนจัดทำโครงการทุกปีนั้น ทางคณะครูได้จัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือกับทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเทศบาล อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ( อผส. ) ของแต่ละหมู่บ้าน สมาชิกสภาเทศบาล ( สท. ) ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว โดยจะทำการรวบรวมข้อมูล และคัดเลือกผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ จะเน้นผู้สูงอายุที่ควรได้รับกำลังใจ ผู้สูงอายุที่ขาดการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน หากได้รายชื่อผู้สูงอายุแล้ว ทางเจ้าหน้าที่กองการศึกษาจะแนะนำการใช้งบประมาณในการเบิกจ่ายในโครงการ ซึ่งจะใช้ซื้อของที่ระลึกในการออกเยี่ยมในแต่ละครั้ง ว่าจะต้องใช้งบประมาณส่วนใดในการจัดซื้อได้ กิจกรรมขณะออกเยี่ยมเยียน กิจกรรมในการศึกษา 2554 นั้น เน้นให้เด็กออกเยี่ยมเยียน พูดคุย กับผู้สูงอายุ หัดให้เด็กได้ใช้คำพูดสำหรับการพูดกับผู้ใหญ่ เช่น ยายทานข้าวหรือยังคะ ?? ตาสบายดีไหมครับ ?? เป็นต้น ทั้งนี้ ก่อนการจัดกิจกรรม 1 วัน ทางคุณครูผู้รับผิดชอบโครงการ จะพูดคุย สนทนากับเด็ก ๆ ก่อน ถึงที่มาของการใช้คำพูด คำถามที่ควรถาม รวมไปถึงมารยาทในการเดิน นั่ง ยืน เวลาอยู่กับผู้ใหญ่ โดยคุณครูจะให้เด็กแสดงบทบาทสมมุติ เพื่อให้เกิดการคุ้ยเคยก่อนนำเด็กไปปฏิบัติจริงกับผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อผส. และสท. ของแต่ละหมู่บ้านนั้น ได้ถือโอกาสนี้ ออกเยี่ยมเยียน พบปะพูดคุยกับผู้สูงอายุในเขตที่ตนรับผิดชอบอยู่ด้วย แต่กิจกรรมในปีการศึกษา 2555 นั้น ทางคณะครูได้นำข้อมูลและคำแนะนำของผู้บริหาร นำมาปรับปรุงในการจัดกิจกรรมดังกล่าว คือ การร้องเพลงให้ผู้สูงอายุฟัง โดยอาจจะเป็นเพลงที่เด็กร้องได้และสามารถให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วม เช่น เพลงสวัสดีแบบไทยไทย เป็นต้น การให้เด็กแสดงกิริยาในการเอาอกเอาใจกับผู้สูงอายุ เช่น การจับมือ การบีบนวด เป็นต้น เพื่อแสดงออกถึงการมอบความรัก ความห่วงใย ด้วย วันและเวลาในการออกเยี่ยม กิจกรรมดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 1 – 2 เดือน โดยจัดให้เด็กได้ออกเยี่ยมผู้สูงอายุสัปดาห์ละ 1 วัน ในช่วงเวลา 09.00 – 11.00 น. โดยจะนำเด็กออกเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุหมู่บ้านละ 2 คน ซึ่งในตำบลแม่คือมีหมู่บ้านทั้งหมด 6 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 คน ปัญหาและอุปสรรคในการจัดโครงการ อุปสรรคที่พบในปีการศึกษา 2554 นั้น เกี่ยวกับยานพาหนะในการเดินทางออกเยี่ยม เนื่องจากทางคณะครูได้จัดทำบันทึกข้อความขอใช้รถยนต์ส่วนกลางของทางเทศบาลในการจัดกิจกรรมตลอดโครงการ แต่บางครั้งกิจกรรมที่จัดนั้น ได้ตรงกับการงานเทศบาลที่ต้องใช้รถยนต์ส่วนกลางเหมือนกัน ทำให้ต้องหารถยนต์ในการจัดกิจกรรมใหม่ แต่ในปีการศึกษา 2555 นั้น ทางคณะครูได้จัดจ้างรถยนต์ในการรับ – ส่งเด็ก ให้เสร็จสิ้นตลอดโครงการ ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ เด็ก ๆ ไม่คุ้ยเคยกับการคลานเข่าเวลาผ่านผู้ใหญ่ที่นั่งกับพื้น ทำให้ขณะที่ครู หรือเจ้าหน้าที่กำลังพูดคุยกับผู้สูงอายุ หรือญาติ ๆ ของบ้านนั้น เด็ก ๆ มักวิ่งผ่านไปมา ทำให้ดูแล้วไม่ค่อยเรียบร้อยนัก ซึ่งเป็นปัญหาที่ครูต้องแก้ไข โดยการฝึกให้เด็กได้คลานเข่าเวลาผ่านผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่ ในปีต่อไป อุปสรรคที่พบในปีการศึกษา 2555 นั้น เกี่ยวกับการใช้ภาษากลางในการสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้ภาษาพื้นเมืองในการพูดคุย สนทนากับเด็ก ในขณะที่ครูสอนเด็กโดยใช้ภาษากลางเป็นภาษาหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็ก ๆ ส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจความหมายของภาษาพื้นเมืองเป็นอย่างดี แต่บางครั้ง คำบางคำ ทำให้เด็กไม่เข้าใจ และตอบไม่ได้ เช่น มีผู้สูงอายุท่านหนึ่ง ถามเด็กว่า อากาศร้อนมาก ทำไมเด็กไม่ใส่ “ กุป ” มาด้วย ??? เป็นต้น ซึ่งคำคำนี้ คุณครูบางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแปลว่าอะไร ทันทีที่เด็กได้ยิน เด็กก็พากันหันมองหน้ากัน แต่ไม่ตอบ เพราะไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรนั่นเอง ความประทับใจ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ แสดงอาการดีใจ ที่ได้พบปะพูดคุยกับเด็ก รวมไปถึงลูกหลานที่คอยให้การต้อนรับคณะครูและเด็ก ๆ บางรายออกอาการดีใจ ที่ได้เห็นเด็ก ๆ ร้องเพลง ปรบมือ คอยบีบนวดให้ โดยไม่มีท่าทีที่รังเกียจ ในขณะที่บางรายออกอาการร้องไห้ เพราะคิดถึงลูกหลานของตนเอง ที่ไม่ค่อยมาดูแลเอาใจใส่เลย ซึ่งครูเองก็พลอยน้ำตาซึมไปด้วย บางรายร้องไห้เสียงดังเหมือนเด็กไม่มีผิด จนทำให้เด็กบางคนร้องตามก็มี ครูเองก็ประทับใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข ได้เห็นรอยยิ้ม และคำพูดที่ประทับใจหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเราอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นบ่อยนัก ในชีวิต ซึ่งคำพูดบางคำ ทำให้คุณครูและคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีกำลังใจในการทำงาน มีกำลังใจในการแก้ไขกับปัญหาต่าง ๆ ต่อไป แนวทางในการดำเนินงานในปีต่อไป ทางคณะครูจะได้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมการทำร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กนักเรียน อาจจะเป็นกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การเต้นตามจังหวะเพลง การร้องเพลงประกอบท่าเต้น เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างความคุ้ยเคยให้กับเด็กเวลาอยู่กับผู้สูงอายุ และที่ต้องฝึกเด็กในปีต่อไปคือ การคลานเข่าผ่านผู้ใหญ่ หรือเวลาที่มีผู้ใหญ่นั่งอยู่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการฝึกฝนมากพอสมควร แต่ก็คงไม่ยากเกินไป เพราะคุณครูจะนึกถึงรอยยิ้ม และรอยน้ำตา รวมไปถึงคำพูด คำอวยพรที่ผู้สูงอายุได้บอกไว้ให้กับคุณครูและเด็ก ๆ ทำให้ครูมีกำลังใจในการดูแลเด็กนักเรียน และพร้อมที่จะปรับปรุงพัฒนาโครงการนี้ ให้เจริญก้าวหน้า บรรลุตามวัตถุประสงค์ของคณะทำงานเอง คณะผู้บริหาร และที่สำคัญได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการดูแลผู้สูงอายุ ได้มีโอกาสสร้างบุญทั้งการอบรมนักเรียนให้เป็นคนดี และเสริมสร้างให้เด็กนักเรียนทำความดีต่อผู้สูงอายุต่อไป นับว่าเป็นการสร้างบุญอันยิ่งใหญ่ ที่น้อยคนนัก ที่จะมีโอกาสได้กระทำ.......... “ บุญที่ได้จากการดูแลบุพการีนั้น ไม่มีบุญใดเทียบเท่าได้ แม้ถวายทานแด่ภิกษุร้อยครั้ง ไม่เทียบเท่าการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ครั้งเดียว เพราะนี่แหละ คือ สัญลักษณ์ของ คนดี ” “ ณัฏกฤตา ปันปวง ”

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=2994 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 2994