โครงการถั่วเขียวแปลงร่าง
สร้างโดย โรงเรียนบ้านหนองห้วยฝาด (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)
ผู้จัดทำ นางสาวอัญชรี ประสงค์
ประเภทตัวชี้วัด : ด้านการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย
ชื่อโครงงาน ถั่วเขียวแปลงร่าง ผู้ปฏิบัติ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 42 คน ครูที่ปรึกษา นางสาวอัญชรี ประสงค์ ระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้นโครงการ ที่มาและความสำคัญของโครงการ สืบเนื่องมาจากที่นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ได้เห็นแม่ครัวทำต้มจืดถั่วงอกกับลูกชิ้นให้รับประทานอาหารกลางวัน เด็กหญิงธัญสุดา กองเงินเกิดถามคุณครูขึ้นมาว่า : ถั่วงอกมาจากอะไรคะ และเด็กชายเก่ง แสนสุขก็ได้ถามต่อว่า : มันขึ้นมาจากเม็ดถั่วเขียวใช่ไหมครับ ผมเคยเห็นพี่ปลูก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการนำไปสู่การทดลองการปลูกถั่วเขียว ว่าจะสามารถปลูกถั่วเขียวในอะไรได้บ้าง วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า 1. ฝึกให้เด็กรู้จักกระบวนการคิด วางแผน ทำงานอย่างเป็นขั้นตอน สังเกต ทดลอง รู้จักการแก้ปัญหาร่วมกัน และสรุปผลการทดลอง เกี่ยวกับการปลูกถั่วเขียวด้วยตนเอง 2. ส่งเสริมให้เด็กรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และมีส่วนร่วมในการเรียน 3. ส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออกด้วยการพูด การแสดงความคิดเห็นถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์เดิม 4. สนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง เห็นความสำเร็จของผลงาน และภูมิใจในผลงานของตนเอง กำหนดปัญหา ถั่วเขียวปลูกในอะไรได้บ้าง สมมุติฐาน ครู : นักเรียนคิดว่าเราจะสามารถปลูกถั่วเขียวกับอะไรได้บ้าง ปอนด์ : ผมเคยเห็นครูวิภาสอนพี่ป.โตปลูกในกระดาษทิชชูครับ อั้ม : คุณครูขา หนูว่าน่าจะปลูกในดินทรายที่อยู่หลังห้องได้นะคะ หนูเคยเห็นต้นอะไรก็ไม่รู้มันโตขึ้นมาจากในดินทรายค่ะ แป้ง : น่าปลูกในกระถางต้นไม้ได้ เปรม : ผมว่าน่าจะปลูกในดินครับ เก้า : แม่เอาขี้เถ้าแกลบมาคลุกกับดินมาปลูกพริกได้ ผมว่าก็น่าจะเอามาปลูกถั่วเขียวได้นะครับ โต๋ : น่าจะปลูกในน้ำได้นะครับ เหมือนต้นไม้ในห้องอนุบาล 1 สรุปผลการเสนอความคิดเห็นได้ว่า การปลูกถั่วเขียวในกระดาษทิชชู ดินทราย และขี้เถ้าแกลบผสมดินน่าจะปลูกถั่วเขียวได้ ระยะที่ 2 ระยะพัฒนาโครงการ การดำเนินกิจกรรมโครงงานถั่วเขียวแปลงร่าง 1. ให้นักเรียนนำถั่วเขียวกระดาษทิชชู ทราย ขี้เถ้าแกลบ และถ้วยพลาสติกมาจากบ้าน 2. ครูนำถั่วเขียวที่เตรียมไว้ใส่กะละมังแล้วให้เด็กสัมผัส พร้อมตั้งคำถามให้เด็กหาคำตอบด้วยตนเอง - เด็กๆ จับถั่วเขียวแล้วรู้สึกอย่างไร - ทำไมต้องแช่ถั่วเขียวในน้ำ 3. นำน้ำเปล่าเทใส่เหยือกใสที่ใส่ถั่วเขียวอยู่ให้ท่วม แช่ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง 4. เมื่อครบ 1 ชั่วโมงแล้วให้เด็กๆ ลองสัมผัสถั่วเขียวที่แช่น้ำ พร้อมตั้งคำถามให้เด็กตอบ ให้เด็กหาคำตอบด้วยตนเอง - เด็กจับถั่วเขียวแล้วรู้สึกอย่างไร - ถั่วเขียวที่แช่น้ำมีลักษณะอย่างไร 5. แบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม ตามขั้นตอนการตั้งสมมติฐาน แล้วทดลองปลูกถั่วเขียว โดยครูคอยดูแลและให้คำแนะนำ ดังนี้ กลุ่มที่ 1 เททรายใส่ถ้วยพลาสติกใสแล้วพรมน้ำให้เปียก นำถั่วเขียวที่แช่ไว้โรยกระจายๆ กันให้ทั่ว กลุ่มที่ 2 นำกระดาษทิชชูวางบนถ้วยพลาสติก 4 - 5 ชั้น แล้วพรมน้ำให้กระดาษทิชชูเปียก แล้วนำถั่วเขียวที่แช่น้ำไว้โรยบนกระดาษทิชชูที่เปียกให้กระจายๆกัน จากนั้นนำกระดาษทิชชู ปิดทับ 3 – 4 ชั้นแล้วพรมน้ำกระดาษทิชชู ให้ชุ่ม กลุ่มที่ 3 เทขี้เถ้าแกลบผสมดินใส่ถ้วยพลาสติกใสแล้วพรมน้ำให้เปียก นำถั่วเขียวที่แช่ไว้โรยให้กระจายๆ กันทั่วถ้วยพลาสติก 6. เมื่อเด็กทุกคนปลูกถั่วเขียวครบแล้ว ให้นำไปวางเรียงบนหลังตู้ จากนั้นเด็กและครูสร้างข้อตกลงร่วมกันโดยให้เด็กช่วยกันคิดวิธีการดูแลรักษาถั่วเขียว และสังเกตการเจริญเติบโตของต้นถั่วเขียว - เราจะมีวิธีการอย่างไรในการวัดการเจริญเติบโตของต้นถั่วเขียว 7. ครูให้นักเรียนช่วยกันสังเกตการเจริญเติบโตด้วยการตัดกระดาษวัด แล้วนำมาติดเปรียบเทียบการเจริญเติบโต ครูสังเกตความสนใจ และบันทึกคำพูดเด็ก 8. เมื่อถั่วเขียวกลายเป็นถั่วงอกที่โตเต็มที่ ให้เด็กๆ เก็บถั่วงอกของตนเอง โดยลอกเปลือกสีเขียวออก เด็ดรากออก ใส่ถังล้างน้ำให้สะอาด นำไปประกอบอาหารรับประทานร่วมกัน ระยะที่ 3 ระยะรวบรวมสรุป การปลูกถั่วเขียวต้องนำถั่วเขียวไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เปลือกของถั่วเขียวนิ่ม แล้วนำปลูกในดินทราย ในกระดาษทิชชู และในขี้เถ้าแกลบผสมดินที่พรมน้ำเตรียมเอาไว้ หลังจากปลูกวันแรกเด็กได้รดน้ำ แล้วสังเกตเห็นมีอะไรบางอย่างงอกออกมาจากถั่วเขียว พอเข้าวันที่ 2 เด็กก็ได้รดน้ำ และสังเกตผล วันที่ 3-5 เด็กได้ใช้กระดาษที่เตรียมไว้มาวัดการเจริญเติบโตของถั่วเขียว ปรากฏว่า การปลูกถั่วเขียวบนกระดาษทิชชูเจริญเติบโตได้ดีกว่าปลูกบนดินทราย และขี้เถ้าแกลบผสมดิน เพราะกระดาษทิชชูอมน้ำ ถั่วเขียวจะได้รับความชุ่มชื้นช่วยให้การเจริญเติบโตเป็นถั่วงอกเร็วขึ้น ถั่วเขียวใช้การเจริญเติบโตประมาณ 5 วัน ในขณะที่ถั่วเขียวกำลังเจริญเติบโต ไม่ควรรบกวนจับเม็ดถั่วเขียวเล่นหรือฉีกกระดาษทิชชูออก ควรปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ แล้วจึงสรุปผลด้วยการจัดนิทรรศการ โดยเด็กจะเป็นผู้บรรยาย และนำถั่วงอกที่ปลูกได้มาประกอบอาหาร
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=2768 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 2768