การเลี้ยงไก่แฮปปี้

สร้างโดย วัดคลองน้ำเย็น (จังหวัดจันทบุรี)

ผู้จัดทำ นางสาวภัทรศยา ดาวลอย

ประเภทตัวชี้วัด : ประสบการณ์ : จากเรื่องเล่า ใต้ร่มพระบารมี



            ข้าพเจ้าเป็นผู้ช่วยครูดูแลเด็ก ในตำบลของข้าพเจ้ามีโรงเรียนทั้งหมด ๖ โรงเรียน เป็นโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน ๒ โรงเรียน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จตรวจเยี่ยมเกือบทุกปี ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเตรียมงานรับเสด็จ ๒ ครั้ง ทำให้ทราบว่าโรงเรียนได้มีการจัดทำโครงการอาหารกลางวันโดยทำการเกษตรและนำผลผลิตทางการเกษตรมาประกอบอาหาร ทราบว่าเป็นโครงการตามพระราชดำริ มีสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าสนใจคือการเลี้ยงไก่ไข่ เพราะไข่ไก่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถนำมาทำอาหารคาวหวานได้หลายชนิด เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีและทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยากให้เด็กได้เลี้ยงไก่ไข่เพื่อนำไข่มาทำอาหารกลางวัน เหลือจากการบริโภคก็จำหน่ายให้กับคนในชุมชน ทำให้เด็กได้เรียนรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่ ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับผู้ปกครองเด็กเพื่อจะนำเด็กไปเรียนรู้ ทำให้ทราบว่าที่ชุมชนบ้านคลองพลอยได้มีการทำการเกษตรพอเพียง ใช้ชื่อกลุ่มว่า กลุ่มเกษตรธรรมชาติบ้านคลองพลอย มีที่ปรึกษากลุ่มคือ อาจารย์หมอจุรินทร์ .เป็นปศุสัตว์อำเภอ ชาวบ้านเล่าว่าอาจารย์หมอได้แนะนำส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ให้กลุ่ม โดยเริ่มแรกอาจารย์หมอจัดการประชุมกลุ่มและอบรมให้ความรู้ในการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์และสอนการทำอาหารให้ไก่ไข่กิน โดยให้ไก่ได้กินอาหารวันละสองครั้ง เช้ารอบหนึ่งตอนบ่ายอีกรอบหนึ่ง อาหารที่ทำขึ้นก็หาได้ในท้องถิ่น คือต้นกล้วยป่าซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไป เริ่มแรกก็นำต้นกล้วยมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆหมักกับกากน้ำตาล โดยมีอัตราส่วนต้นกล้วย ๓ กิโลกรัมต่อกากน้ำตาล ๑ กิโลกรัมหมักในถังปิดฝาเป็นเวลา ๗ วันก็นำมาใช้เป็นอาหารไก่ไข่ได้ แต่ก่อนนำไปให้ไก่กินจะต้องผสมส่วนผสมอื่นอีกคือ รำ หัวอาหาร อย่างละ ๑ ส่วนคลุกเคล้าให้เข้ากัน การเลี้ยงก็เลี้ยงแบบปล่อยไม่ขังกรงแคบๆอีกแล้ว มูลไก่ก็ไม่ส่งกลิ่นเหม็นเพราะกินอาหารสะอาดและก็หมักแล้ว อาจารย์หมอเรียกการเลี้ยงไก่ไข่นี้ว่าไก่แฮปปี้ หมายความว่าไก่มีความสุข เมื่อมันมีความสุขมันก็ออกไข่ทุกวัน คนเลี้ยงก็มีความสุขด้วยที่ได้ขายไข่และก็มูลไก่ด้วย ข้าพเจ้าได้จัดหาไก่ไข่มาทดลองให้เด็กได้เลี้ยงจำนวน ๒๕ ตัว เด็กๆอยากเข้าไปในเล้าไก่มาก ข้าพเจ้าให้เด็กได้ให้อาหารไก่เอง ให้ไปดูไก่กำลังไข่ที่รังไข่เด็กๆสนใจเฝ้าดูไก่ออกไข่ ซึ่งไก่จะเริ่มไข่ตั้งแต่ตีห้าจนถึงช่วงบ่ายสองโมง มันจะไม่ไข่พร้อมกัน เด็กๆได้เก็บไข่ไก่ใส่กระป๋อง เด็กๆมีความสุขกันมาก ไม่อยากออกจากเล้าไก่ยังอยากจะอยู่ต่อ แต่ข้าพเจ้าต้องพาออกมาเพราะใกล้เวลาทานอาหารกลางวันแล้ว โดยข้าพเจ้าบอกเด็กว่าวันหลังจะพาเข้าไปใหม่ เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีจิตใจที่รักสัตว์ เกิดความเมตตาต่อสัตว์และเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้พื้นฐานด้านการเกษตรยั่งยืนภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และนำไปบอกเล่าให้ผู้ปกครองฟังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ปกครองอยากเลี้ยงไก่ไข่เอาไว้กินเองได้อีกทางหนึ่งเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย ถือว่าข้าพเจ้ามีความสุขที่เห็นเด็กๆ มีความสุขกับการจัดการเรียนรู้ครั้งนี้

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=2750 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 2750