อาชีพที่รักในชุมชนของฉัน

สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนาเกลือมณีรัตน์ (จังหวัดสมุทรสาคร)

ผู้จัดทำ นางสาวรัษฎากร นุชประเสริฐ

ประเภทตัวชี้วัด : ประสบการณ์ : จากเรื่องเล่า ใต้ร่มพระบารมี



             วันหนึ่งฉันได้พาเด็กไปดูสารคดี หนังสั้น เรื่อง “เกลือหวาน”เนื้อเรื่องของสารคดีเรื่องนี้ จะเกี่ยวกับ การประกอบอาชีพการทำนาเกลือของชาวบ้านตำบลบางหญ้าแพรก และนำเงินที่ได้จากกการประกอบอาชีพทำนาเกลือมาส่งเสียเลี้ยงดูให้ลูกได้อยู่สบาย และเรียนสูงจนจบปริญญาและกลับมาเป็นครูสอนเด็กที่บ้านของตนเองและแต่งงานมีครอบครัวเขายังประกอบอาชีพเดิมของพ่อแม่ คือ ทำนาเกลือและเลี้ยงดูลูกของเขาสืบต่อไป และจากเรื่องที่ดู มีเด็กคนหนึ่งถามฉันว่า ทำไมเกลือจึงหวาน เพราะจากที่หนูเคยชิม เกลือมันเค็มนะครู ฉันเลยตอบเด็กคนนั้นไปว่า มันเป็นการเปรียบเทียบหรือเปรียบเปรย ว่าเกลือที่เค้าทำนั้น จากรายได้ที่ทำ มันสร้างให้เขาเป็นคนดี ประกอบอาชีพสุจริต เขาจึงเปรียบเกลือนั้นมันหวานเพราะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีไม่ขัดสนและมันทำให้ชีวิตของเขาหอมหวาน ไม่มีอุปสรรคใด ๆ ฉันได้ศึกษาสภาพท้องถิ่นในชุมชนตัวเองว่าเหมาะสมจะนำภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบใดเข้ามา ช่วยในการพัฒนาเด็กและให้เกิดการเรียนรู้ทั้ง 4 ด้าน และเมื่อศึกษาสภาพท้องถิ่นแล้ว ชุมชนที่ตั้งของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่นำมาเป็นกรณีศึกษา มีสภาพพื้นที่ติดทะเลสภาพดินจึงเป็นดินเค็มไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพการทำนาเกลือ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนาเกลือมณีรัตน์ต้องการส่งเสริมให้เด็กรักในอาชีพของชุมชนตัวเองและนำภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นวิทยากรให้ความรู้และทักษะด้านต่าง ๆ ให้เด็ก เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กทั้ง 4 ด้าน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม เพื่อพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ – จิตใจ สังคม และสติปัญญา ในรูปแบบการจัดประสบการณ์พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กตามหลักสูตรท้องถิ่น เน้นประสบการณ์ตรงในสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และปฏิบัติจริงมากที่สุด การไปทัศนะศึกษา แหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น เช่น การประกอบอาชีพ ทำนาเกลือของคนในชุมชน ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ให้เด็กฝึกปฏิบัติหรือได้ค้นคว้าด้วยตนเองเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยน ระหว่างกลุ่มเพื่อน ครูกับเด็ก หรือวิทยากรแหล่งเรียนรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการจัดการเรียนการสอน ในหน่วยอาชีพที่รักของชุมชนเราจะเชิญวิทยากรภายนอกผู้มีความสามารถในการประกอบอาชีพทำนาเกลือมาให้ความรู้ อาจจะเป็นผู้ปกครองเด็กที่ประกอบอาชีพทำนาเกลือมาให้ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือบุคคลสำคัญในชุมชนเข้ามาให้ความรู้แก่เด็กและจัดการศึกษานอกสถานที่หรือทัศนะศึกษาซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ตามสภาพจริงเป็นการช่วยเสริมประสบการณ์หรือสร้างมุมมองใหม่ในการมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัว สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตนกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวหลังจากไปทัศนะศึกษาดูสภาพจริง เด็กเรียนรู้และรักในอาชีพของตนเอง และสามารถนำความรู้ที่ได้ต่อยอดความรู้ของเด็ก ให้สอดคล้องกับความสนใจและความต้องการตามศักยภาพของเด็กและสามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ หลังจากนั้นฉันก็พาเด็กไปทัศนะศึกษาแปลงนาเกลือซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน หมู่ 6 ตำบลบางหญ้าแพรก บ้านฉันสถานที่แหล่งการเรียนรู้ชุมชนที่ฉันพาไปจะช่วยสอนให้เด็กเรียนรู้และเห็นคุณค่ามีศรัทธาในอาชีพการทำนาเกลือของตนเองและทำให้เด็กมีสำนึกรักบ้านเกิดของตน

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=2725 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 2725