เรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง
สร้างโดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหัวนา (จังหวัดน่าน)
ผู้จัดทำ นางสาวฐิติภา ใหม่สว่าง
ประเภทตัวชี้วัด : ประสบการณ์ : จากเรื่องเล่า ใต้ร่มพระบารมี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้มีพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ไว้ตอนหนึ่งว่า “...พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของ หรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...” พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ “เศรษฐกิจพอเพียง” (Suffciency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย บนพื้นฐานของทางสายกลาง ซึ่งประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ (พอประมาณ, มีเหตุผล, มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี) และ 2 เงื่อนไข (เงื่อนไขความรู้ คือ รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง, เงื่อนไขคุณธรรม คือ ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน มีสติปัญญา แบ่งปัน) ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหัวนาได้เล็งเห็นความสำคัญจึงจัดกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ และได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอดและความเข้าใจในสิ่งที่เรียนอย่างแท้จริง การปลูกฝังปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เด็กผ่านระบบการศึกษา ที่ควรให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรปล่อยให้เป็นเพียงกระแสแค่ชั่วระยะหนึ่งแล้วเลือนหายไป สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป คือ การสร้างจิตสำนึกร่วมในการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา อันจะทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เป้าหมายสำคัญของการจัดกิจกรรมเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง คือ การทำให้เด็กรู้จักความพอเพียง ปลูกฝัง อบรม บ่มเพาะให้เด็กมีความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยสอดแทรกแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร สาระเรียนรู้ต่างๆ เพื่อสอนให้เด็กรู้จักการใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เห็นคุณค่าของทรัพยากรต่างๆ รู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปัน มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมค่านิยม ความเป็นไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รู้ว่าตนเองเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของโลก การกระทำของตนย่อมมีผลและเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมในโลกที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ด้วย
ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=2190 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 2190