ตามรอยเจ้าฬาฯ นักโภชนาการ

สร้างโดย ศพด.บ้านดอนกลาง (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

ผู้จัดทำ น.ส.อารีย์ ทองรอด

ประเภทตัวชี้วัด : ประสบการณ์ : จากเรื่องเล่า ใต้ร่มพระบารมี



            ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานพระราชดำริให้มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2523 ถึงขณะนี้ปี 2556 คือโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนเป็นโครงการแรกที่ได้รับพระราชทานเนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพอนามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมที่จะสร้างเสริมสติปัญญาจากบทความพระราชนิพนธ์ความว่า “ ในบรรดาคนยากจนทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เห็นจะเป็นเด็กๆ พวกเด็กนักเรียนที่ซูบผอม อาหารการกินไม่สมบูรณ์ เช่นนี้จะเอาเรี่ยวแรงและสมองที่ไหนมาเล่าเรียน โตขึ้นอาจไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน ทำมาหากิน ก็ต้องทุกข์ยากยิ่งขึ้น....... ข้าพเจ้าเริ่มวางแผนงานโภชนาการ สำหรับเด็กนักเรียนในโรงเรียนโดยคิดว่าเราควรสอนวิชาเกษตร และให้นำผลิตผลทางการเกษตรมาปรุงอาหารพร้อมทั้งสอนความรู้เบื้องต้นด้านโภชนาการด้วย“ ด้วยพระเมตตาและความห่วงใยในเยาวชนผู้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงมุ่งมั่นให้นักเรียนทุกคนบริโภคอาหารครบห้าหมู่ เพื่อให้การพัฒนาด้านโภชนาการและสุขภาพของเด็กดีขึ้น สติปัญญาดีส่งผลให้สมองมีการพัฒนาซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้ ทั้ง ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี แม้แต่การประกอบอาชีพในชีวิตประจำวันจะเกิดผลดีขึ้นตลอดจนสนับสนุนให้เยาวชนมีความรักและร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมสืบสานวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่คู่แผ่นดินต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนของชาติทำหน้าที่ในการดูแลและปกปักษ์รักษาชาติไทยให้คงไว้สืบไป โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อให้นักเรียนมีอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการบริโภคตลอดปีการศึกษา โดยใช้ผลผลิตการเกษตรที่ผลิตขึ้นภายในโรงเรียนมาประกอบอาหาร จากการดำเนินโครงการการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่พอเพียงและมีคุณภาพ เป็นการประหยัดเงินของผู้ปกครอง และสามารถ ลดอัตรา ทุพโภชนาการในเด็กนักเรียนได้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี “มีรับสั่งว่า ด้านโภชนาการเป็นอีกด้านหนึ่งที่คิดว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาแต่ว่าผูกพันมากคือ เวลาเรานำเด็กมาเรียนหนังสือ โดยเฉพาะเด็กประถม แล้วก็บอกว่าสุขภาพเขาดีหรือไม่ดี จริงๆแล้วถ้าคิดย้อนไป ต้องไปถึงตอนที่เขาคลอด แล้วก็สุขภาพของแม่ด้วย แล้วถ้าย้อนจริงๆ ต้องย้อนไปถึงสุขภาพของหญิงวัยเจริญพันธ์ในหมู่บ้าน คือคิดไปแล้วต้องย้อนไปเรื่อยๆ คือ ตั้งโจทย์ว่า สุขภาพของนักเรียน ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจแล้วก็สุขภาพสมองเขาพร้อมที่จะเรียนหนังสือไหม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าขาดสารอาหารบางอย่าง เขาก็เรียนไม่เต็มที่ เช่น สารไอโอดีนก็ดี ก็เรียนไม่เต็มที่ จะให้เขาเก่งเหมือนเด็กที่สุขภาพแข็งแรงย่อมไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเป็นครูเขาหรือจัดการศึกษา ไม่ใช่ว่าจะป้อนความรู้ แต่ไม่รู้ว่าเด็กพร้อมจะรับการศึกษาไหม พร้อมที่จะเรียนรู้ไหมอันนี้เป็นที่ครูที่จะต้องค่อยๆ เข้าไปช่วยเด็กในโรงเรียน ส่วนเด็กที่มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างจะมีฐานะในเมือง ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร แต่เด็กในชนบทต่างกันฟ้ากับดินเลย ความไม่พร้อมของเขาสะท้อนออกมาในเรื่องสุขภาพของกาย สุขภาพจิตไม่ค่อยมีปัญหา แต่ว่าสุขภาพของสมอง ความพร้อมของสมอง เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสนพระทัย เรื่องภาวะโภชนาการของแม่และเด็กในชุมชนเป็นอย่างมาก “

ที่มา : http://special2.dusitcenter.org/cdcnews/content.php?nid=2045 | เลขที่ข่าวอ้างอิง : 2045